TNN โลกยุคน้ำแข็ง 720 ล้านปี พบหลักฐานสำคัญในหมู่เกาะสกอตแลนด์

TNN

Tech

โลกยุคน้ำแข็ง 720 ล้านปี พบหลักฐานสำคัญในหมู่เกาะสกอตแลนด์

โลกยุคน้ำแข็ง 720 ล้านปี พบหลักฐานสำคัญในหมู่เกาะสกอตแลนด์

นักธรณีวิทยาพบหลักฐานทางธรณีวิทยาของโลกในยุคน้ำแข็งสเตอร์เชียน (Sturtian Glaciation) อาจนำไปสู่รายละเอียดเกี่ยวกับหนึ่งในช่วงเวลาครั้งสำคัญของโลก

นักธรณีวิทยาค้นพบว่าหมู่เกาะ “การ์เวลแล็ก” (Garvellach Islands) ในประเทศสกอตแลนด์ อาจจะเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุด ที่เก็บหลักฐานทางธรณีวิทยายุคน้ำแข็งสเตอร์เชียน (Sturtian Glaciation) ซึ่งเป็นยุคน้ำแข็งครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 720 ล้านปีที่แล้ว


ยุคน้ำแข็งครั้งใหญ่

เมื่อประมาณ  720 - 635 ล้านปีที่แล้ว คือช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่ชื่อว่า ยุคไครโอจีเนียน (Cryogenian Period) ในยุคนี้เกิดน้ำแข็งปกคลุมโลกครั้งใหญ่ 2 ครั้ง คือ ยุคน้ำแข็งสเตอร์เชียน (Sturtian glaciation) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 720 - 662 ล้านปีที่แล้ว และอีกครั้งคือ ยุคน้ำแข็งมารีเนียน (Marinoan Glaciation) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 650 - 635 ล้านปีที่แล้ว ในช่วงเวลาอันยาวนานนี้เอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกถูกน้ำแข็งปกคลุม คาดการณ์ว่าเหมือนก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมา จนนักวิทยาศาสตร์เรียกโลกในช่วงเวลานี้ว่า สโนวบอลเอิร์ธ (Snowball Earth) หรือ โลกลูกบอลหิมะ 


ย้อนกลับไปช่วงก่อนที่โลกจะก้าวเข้าสู่สโนวบอลเอิร์ธ คือเมื่อหลายพันล้านปีก่อน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าโลกมีเพียงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวหรือพวกสาหร่ายเท่านั้น แต่หลังจากผ่านพ้นยุคน้ำแข็งในยุคไครโอจีเนียนแล้ว นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ารูปแบบของสิ่งมีชีวิตบนโลกก็ซับซ้อนยิ่งขึ้น จนก่อเกิดเป็นสัตว์ชนิดแรกของโลกขึ้นมา


โลกยุคน้ำแข็ง 720 ล้านปี พบหลักฐานสำคัญในหมู่เกาะสกอตแลนด์


ปริศนา ? เหตุใดยุคน้ำแข็งจึงทำให้สิ่งมีชีวิตซับซ้อน

คำถามต่อมาคือเพราะอะไรจึงทำให้สิ่งมีชีวิตซับซ้อนจนเกิดเป็นสัตว์ชนิดแรกของโลกขึ้นมา? หนึ่งในทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์นำเสนอก็คือ ระหว่างยุคน้ำแข็งนี้ โลกเกิดสภาพแวดล้อมแบบสุดโต่ง จนทำให้สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกันเพื่อเอาตัวรอด จนก่อเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์


แต่ว่านี่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ว่าทำไมโลกจึงกลายเป็นสโนวบอลเอิร์ธ (Snowball Earth) รวมถึงระหว่างที่น้ำแข็งปกคลุมทั่วโลกนั้น เกิดกระบวนการอะไรขึ้น จนทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นมา ซึ่งเหตุผลที่ยังไม่พบคำตอบก็เนื่องจากว่าหลักฐานต่าง ๆ ได้ถูกธารน้ำแข็งกัดเซาะไปหมดแล้ว


การค้นพบหลักฐานทางธรณีวิทยาของโลกยุคไครโอจีเนียน

แต่ล่าสุดนักธรณีวิทยาอาจจะได้ข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับโลกในช่วงยุคน้ำแข็งสเตอร์เชียนมากขึ้น โดยนักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกสาขาธรณีวิทยาชื่อ เอเลียส รูเจน (Elias Rugen) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (UCL) ประเทศอังกฤษ พบชั้นหินที่เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาในยุคน้ำแข็งสเตอร์เชียน ซึ่งพื้นนี้คือหมู่เกาะการ์เวลแล็ก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสกอตแลนด์ เกาะนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่ มีเพียงนักวิจัยที่แวะเวียนไปเป็นครั้งคราว 


โลกยุคน้ำแข็ง 720 ล้านปี พบหลักฐานสำคัญในหมู่เกาะสกอตแลนด์

โลกยุคน้ำแข็ง 720 ล้านปี พบหลักฐานสำคัญในหมู่เกาะสกอตแลนด์


ในหมู่เกาะการ์เวลแล็ก นักวิทยาศาสตร์พบชั้นหินพอร์ท แอสเคก ฟอร์เมชัน (Port Askaig Formation) ซึ่งคำว่าฟอร์เมชันนี้ก็อธิบายถึงกลุ่มหินที่มีความแตกต่างจากหินที่อยู่ติดกัน โดยชั้นหินนี้ประกอบด้วยชั้นหินหนาประมาณ 1.1 กิโลเมตร ทอดตัวยาวระหว่างประเทศไอร์แลนด์และประเทศสกอตแลนด์ นักวิจัยทำการวิเคราะห์แร่เซอร์คอนในหิน ทำให้พบว่าชั้นหินดังกล่าวนี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นระหว่าง 720 - 662 ล้านปีก่อน หรือก็คือในช่วงยุคน้ำแข็งสเตอร์เชียนนี่เอง


ชั้นหินนี้มีความพิเศษอีกอย่างคือ มันแสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านจากสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและร้อนชื้น ก่อนที่ก้าวเข้าสู่โลกน้ำแข็ง ซึ่งหินในพื้นที่อื่น ๆ ที่ก่อตัวขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เช่น ในทวีปอเมริกาเหนือและประเทศนามิเบีย ไม่มีหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงนี้


รูเจนกล่าวว่ากล่าวว่าการค้นพบนี้ สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง และนำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ เพื่อจำลองสภาพภูมิอากาศและคาดการณ์สภาพภูมิอากาศได้


การค้นพบอันน่าทึ่งครั้งนี้ อาจจะทำให้มีการกำหนดพื้นที่นี้เป็นเครื่องหมายของการเริ่มต้นยุคไครโอจีเนียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเครื่องหมายที่ว่านี้ก็คือการตอก หมุดทองคำ (Gold Spike) ลงไปในชั้นหิน ซึ่งบรรดานักธรณีวิทยาจะพิจารณาตอกเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับการระบุว่า เป็นบันทึกช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่เปลี่ยนแปลงดาวโลกของเราได้ดีที่สุด


โดยหลังจากนี้ก็จะเปิดให้นักธรณีทั่วโลกเข้ามาศึกษาชั้นหินในหมู่เกาะการ์เวลแล็กเพื่อแสดงความคิดเห็นว่า หมู่เกาะการ์เวลแล็กเหมาะสมที่จะตอกหมุดทองคำลงไปหรือไม่ ? ซึ่งหากไม่มีใครคัดค้าน เสนอหลักฐานโต้แย้ง หรือเสนอพื้นที่อื่นที่เหมาะสมกว่า ก็อาจจะสามารถตอกหมุดทองคำได้ภายในปี 2025


การศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Geological Society of London ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2024


โลกยุคน้ำแข็ง 720 ล้านปี พบหลักฐานสำคัญในหมู่เกาะสกอตแลนด์

โลกยุคน้ำแข็ง 720 ล้านปี พบหลักฐานสำคัญในหมู่เกาะสกอตแลนด์



ที่มาข้อมูล BBC, UCL, Lyellcollection

ที่มารูปภาพ UCL

ข่าวแนะนำ