TNN สหรัฐอเมริกาสร้างสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวด (Superconducting Wire) ที่ดีที่สุดในโลก

TNN

Tech

สหรัฐอเมริกาสร้างสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวด (Superconducting Wire) ที่ดีที่สุดในโลก

สหรัฐอเมริกาสร้างสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวด (Superconducting Wire) ที่ดีที่สุดในโลก

นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พัฒนาสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวด (Superconducting Wire) ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก

กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล (Department of Chemical and Biological Engineering at the University at Buffalo) เปิดตัวสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก (high-temperature superconducting wire ; HTS wire) ด้วยการสร้างสารเคลือบที่มีความหนาเพียง 0.2 ไมครอน หรือบางกว่าเส้นผมมนุษย์ ที่มีความหนาเฉลี่ยโดยประมาณ 100 ไมครอนถึง 500 เท่า แล้วมาเคลือบกับสายไฟพิเศษ ทำให้สามารถแสดงคุณสมบัติการนำไฟฟ้ายิ่งยวดได้ดีขึ้น


Superconducting Wire ที่ดีที่สุดในโลก

สารตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวด (Superconductor) เป็นสารที่สามารถนำไฟฟ้าได้ดีที่สุด เนื่องจากปราศจากแรงต้านทานทางไฟฟ้าภายในตัววัสดุ อย่างไรก็ตาม การใช้งานสารตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวดในรูปแบบต่าง ๆ ถูกจำกัดไว้ด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ที่ระดับศูนย์องศาสัมบูรณ์ (Absolute zero) ที่ 0 องศาเคลวิน หรือประมาณ -273 องศาเซลเซียส 


แต่สายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวด ที่ทีมมหาวิทยาลัยบัฟฟาโลได้ออกแบบขึ้น ระบุว่าสามารถใช้งานได้ในอุณหภูมิ -268 ถึง -196 องศาเซลเซียส ด้วยเทคนิคการพัฒนาใหม่ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวดที่เรียกว่า “แรบบิตส์” (RABiTS) เพื่อพัฒนาสาร HTS เคลือบลงบนสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวดที่มีอยู่เดิม


โดยเทคนิค RABiTS (Rolling Assisted Biaxially Textured Substrates) เป็นชื่อเทคโนโลยีการผลิตสารตัวนำยิ่งยวดเชิงพาณิชย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา แต่นักวิจัยได้ต่อยอดด้วยการรวมกับเทคโนโลยีเฉพาะทางต่าง ๆ ได้แก่ ไอแบด IBAD (Ion-Beam Assisted Deposition) หรือเทคโนโลยีการจัดเรียงตัวด้วยการยิงลำแสงประจุลบ และเทคโนโลยีการจัดเรียงตัวของสารในระดับนาโน (Nanocolumnar Defects at Nanoscale Spacings Technology) เพื่อจัดเรียงสาร HTS ที่ผลิตขึ้นมาและเคลือบลงบนสายไฟที่ชื่อว่า เรบโค REBCO (Rare-Earth Barium Copper Oxide) 


ผลลัพธ์การพัฒนา Superconducting Wire ที่ดีที่สุดในโลก

โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่นักวิจัยทำก็คือการต่อยอดพื้นฐานการผลิตสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวดเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการปรับแต่งการเรียงตัวของสารในสายไฟในระดับนาโน เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผลการทดลองพบว่า สายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวดที่เคลือบสาร HTS สามารถนำไฟฟ้าได้ที่ 20 องศาเคลวิน (-253.15 องศาเซลเซียส) สายไฟ HTS มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน 150 ล้านแอมแปร์ต่อตารางเซนติเมตร 


โดยผลลัพธ์ดังกล่าวสรุปได้ว่า ทีมนักวิจัยได้ทำให้สายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวดที่มีอยู่เดิมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยการสร้างสารเคลือบที่มีความหนา 0.2 ไมครอน ลงบนสายไฟนำไฟฟ้ายิ่งยวดเดิมอย่าง REBCO ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถทำงานได้ที่อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมสารตัวนำยิ่งยวดต่อไป โดยผลงานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการเนเชอร์ (Nature) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ข้อมูลจาก Interesting Engineering

ภาพจาก University of Buffalo


ข่าวแนะนำ