อเมริกาออกแบบเรือพลังใบทรงกระบอกแบบใหม่ ลดการใช้น้ำมันได้ 90%
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามีในสหรัฐอเมริกา เปิดตัวแนวคิดเรือพลังใบเรือแบบที่ใช้แกนตั้ง (Cylinder) ที่ไม่มีส่วนใบ แต่สามารถใช้รับลมขับเคลื่อนเรือและลดการใช้น้ำมันได้ถึงร้อยละ 90
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี (University of Miami) ในสหรัฐอเมริกา เปิดตัวแนวคิด โคโฟลว์ เจ็ต (CoFlow Jet) ระบบใบพัดเรือสำหรับเรือขนส่งสินค้า (Cargo ship) แบบใหม่ที่มีรูปทรงระบอกและไม่มีใบเรือภายนอก แต่สามารถรับลมเพื่อใช้เป็นพลังงานในการเดินเรือได้ พร้อมประกาศว่าสามารถลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 90 เทียบกับการเดินเรือแบบเดิม
แนวคิดเรือพลังใบทรงกระบอกแบบใหม่
แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะอยู่ในขั้นตอนการออกแบบและวิจัย แต่หลักการของ CoFlow Jet คือ การรับอากาศที่อยู่เหนือกระบอกใบเรือ ต่างจากใบเรือทรงกระบอกอื่น ๆ ที่ใช้การรับอากาศจากแนวยาวของกระบอกใบเรือ โดย CoFlow Jet จะให้อากาศจากด้านบนไหลผ่านใบพัดในกระบอกและสร้างอากาศที่มีแรงดันจากขาเข้า (Intake) ออกสู่ภายนอกตามแนวยาวของกระบอกแทน
หลักการดังกล่าวทำให้ CoFlow Jet ไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว (Moving part) หรือส่วนที่ขยับออกจากแกนกลางหรือจุดหมุนภายนอก ทำให้พื้นที่ติดตั้งไม่มากและสามารถติดตั้งกับเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือต่าง ๆ ที่เดิมทีใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ง่ายและสะดวก ไม่จำเป็นต้องปรับพื้นที่ดาดฟ้าเรือมาก แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าใบพัดทรงกระบอกแต่ละใบมีขนาดเท่าใดในตอนนี้ โดยจากภาพตัวอย่างแบบจำลองของเรือคาดว่าเรือ 1 ลำ อาจต้องติดตั้ง CoFlow Jet อย่างน้อย 3 ชุดต่อลำ
เป้าหมายการพัฒนาเรือพลังใบทรงกระบอกแบบใหม่
นักวิจัยผู้พัฒนา CoFlow Jet ประเมินว่า ระบบใบพัดแบบใหม่นี้จะสามารถลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 90 เทียบกับที่ใช้อยู่เดิมสำหรับเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็ก และลดการใช้เชื้อเพลิงได้ร้อยละ 50 สำหรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ นอกจากนี้ทีมงานผู้พัฒนายังระบุเพิ่มเติมว่า การขนส่งสินค้าทางเรือในปัจจุบันปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก เป็นเหตุให้ทางบริษัทต้องการพัฒนา CoFlow Jet เป็นอีกทางเลือกในการใช้พลังงานลมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ข้อมูลจาก New Atlas
ภาพจาก University of Miami
ข่าวแนะนำ