AI อ่านใจได้ เปลี่ยนความคิดในหัวให้เป็นภาพตามที่เราต้องการ
กลุ่มนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ สร้างระบบ AI ที่อ่านคลื่นสมองแล้วแปลงเป็นภาพได้ เปิดทางรักษาคนเสียการมองเห็นด้วย AI ในอนาคต
กลุ่มนักวิจัยด้านสมองและพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยแรดบูด (Radboud University) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถสร้างภาพ (reconstructing image) ด้วยการอ่านใจผู้ใช้งานผ่านคลื่นสมองได้สำเร็จ
การพัฒนา AI อ่านใจคนเพื่อสร้างภาพ
เพื่อสร้าง AI ที่อ่านใจได้ นักวิจัยได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นการทำความเข้าใจกระบวนการจดจำภาพของสมองมนุษย์ ด้วยการให้อาสาสมัครทดลองเข้าเครื่องสแกนด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (fMRI: functional magnetic resonance imaging) เพื่อดูว่าเส้นเลือดในสมองส่วนที่รับผิดชอบการมองเห็น (Visual cortex) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อการมองเห็นและจดจำภาพ และส่งเป็นข้อมูลให้ AI ใช้เพื่อสร้างภาพจากการเปลี่ยนแปลงสมองออกมา
ในขณะที่อีกส่วนเป็นการปรับปรุงการทำงานของ AI ด้วยการอ่านคลื่นไฟฟ้าจากสมองของลิงกลุ่มมาคาก (Macaque monkey ซึ่งในไทยมีลิงกลุ่มดังกล่าว เช่น ลิงวอก - Rhesus Macaque เป็นต้น) ที่ดูภาพที่สร้างด้วย AI เพื่อดูว่าภาพที่สร้างขึ้น ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของสมองที่ AI ประมวลผลในการทดลองก่อนหน้ามากน้อยแค่ไหน และทำการปรับปรุงระเบียบวิธีคิด (Algorithm) ให้แม่นยำมากขึ้น
ผลลัพธ์ที่ได้คือ AI ที่สามารถสร้างภาพได้เกือบสมบูรณ์กับภาพต้นฉบับ คงเอกลักษณ์และจุดเด่นของภาพต้นฉบับได้ เช่น เมื่ออาสาสมัครมองหลอดไฟ AI จะสร้างภาพหลอดไฟที่มีขนาด รูปทรง และโทนสีที่เกือบตรงกัน แต่อาจมีการเปลี่ยนเฉดสีและการไล่เงาภาพที่ต่างกันบ้างในปัจจุบัน
อนาคตองค์ความรู้ AI ที่อ่านใจคนเพื่อสร้างภาพได้
โดยทีมนักวิจัยเชื่อว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวจะช่วยผลักดันการรักษาผู้สูญเสียการมองเห็นที่ไม่ได้มาจากผลกระทบที่ดวงตาได้ เพราะองค์ความรู้ดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์การกระตุ้นสมองเพื่อช่วยให้มีโอกาสมองเห็นได้อีกครั้ง รวมถึงอาจต่อยอดไปสู่วิธีการสื่อสารใหม่ระหว่างผู้พิการด้วยกัน ที่ให้ AI สร้างภาพจำลองจากคลื่นสมองแทนการพูดหรือสื่อสารแบบดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม ผลงานดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการตีพิมพ์ (Preprint) ในวารสารวิชาการ ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ (Peer review) ที่นำเสนอเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากผ่าน Peer Review ได้สำเร็จก็จะตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการต่อไป
ข้อมูลจาก Interesting Engineering
ภาพจาก X/@ThirzaDado
ข่าวแนะนำ