TNN สุดล้ำทำถึง ! เปิดระบบขนส่งโดยสารแบบใหม่ในต่างประเทศ | TNN Tech Reports

TNN

Tech

สุดล้ำทำถึง ! เปิดระบบขนส่งโดยสารแบบใหม่ในต่างประเทศ | TNN Tech Reports

สุดล้ำทำถึง ! เปิดระบบขนส่งโดยสารแบบใหม่ในต่างประเทศ | TNN Tech Reports

พามาแนะนำเทคโนโลยีการขนส่งโดยสารรูปแบบใหม่ ที่พัฒนาขึ้นในต่างประเทศ รองรับการเดินทางแห่งอนาคต มีทั้งรถบินได้ รถไฟพลังแม่เหล็ก หรือ รถไฟ Maglev และรถไฟไฮโดรเจนทำสถิติวิ่งไกลระดับโลก



ปัจจุบันโลกของเรา มีผู้พัฒนาพยายามคิดค้นและสร้างสรรค์ยานพาหนะรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อที่จะรองรับการเดินทางในอนาคต ทั้งรถบินได้ รถไฟพลังแม่เหล็ก ไปจนถึงรถไฟไฮโดรเจน ที่ปัจจุบันสามารถทำสถิติ วิ่งไกลระดับโลกได้แล้ว


ทดสอบ “รถบินได้” พร้อมผู้โดยสารสำเร็จ


ไคลน์วิชั่น (Klein Vision) บริษัทจากประเทศสโลวาเกีย ผู้พัฒนารถยนต์บินได้ “แอร์คาร์” (AirCar) ประสบความสำเร็จในการทดสอบขึ้นบินครั้งสำคัญ โดยเป็นการบินพร้อมกับผู้โดยสาร เป็นครั้งแรกของโลก


เที่ยวบินประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นที่รันเวย์บนสนามบินในเมืองปิเอสตานี (Piešťany) ประเทศสโลวาเกีย  มีนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ฌ็อง มีแชล ฌาร์ (Jean-Michel Jarre) เป็นผู้โดยสารคนแรก


แอร์คาร์ที่ดูเผิน ๆ คล้ายกับรถสปอร์ตติดปีก ได้เคลื่อนตัวไปตามรันเวย์ ในลักษณะเดียวกันกับรถยนต์ทั่วไป ก่อนที่จะค่อย ๆ เหินฟ้า ทะยานขึ้นสู่ความสูงราว 2,500 ฟุต หรือราว 760 เมตร และทำการบินอยู่กลางอากาศสักระยะ ก่อนที่จะค่อย ๆ ร่อนลงกลับสู่รันเวย์อย่างปลอดภัย 


สำหรับ แอร์คาร์ (AirCar) เป็นรถยนต์บินได้ ที่โดดเด่นด้วยลักษณะตัวโครงสร้างที่คงความเป็น “รถยนต์” เอาไว้ โดยสามารถแล่นไปตามถนนแบบรถทั่วไป และเปลี่ยนเป็นโหมดบินกลางอากาศได้ภายในเวลา 2 นาที


ส่วนภายในรถออกแบบให้รองรับได้ 2 ที่นั่งรวมคนขับ สำหรับตัวรถต้นแบบตอนนี้จะสามารถบินได้ต่อเนื่องประมาณ 35 นาที ที่ระดับความสูง 2,500 เมตร และบินด้วยความเร็วสูงสุด 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


อย่างไรก็ตามตอนนี้บริษัทยังไม่ได้มีการเปิดเผยวันเปิดตัว หรือข้อมูลการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยระบุว่าอาจต้องใช้เวลาพัฒนาอีกสักพัก กว่าที่เราจะได้เห็น แอร์คาร์ (AirCar) ใช้งานกันอยู่บนท้องฟ้าจริง ๆ 


“รถไฟพลังแม่เหล็ก” ใหม่ ใช้รางเดิมจากอิตาลี


“ไอออนเลฟ” (IronLev) รถไฟแม็กเลฟแบบใหม่จากบริษัทสัญชาติอิตาลี ที่พัฒนาวิธีให้รถไฟ Maglev หรือรถไฟพลังแม่เหล็ก วิ่งเหนือรางรถไฟธรรมดาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ต่างจากรถไฟ Meglav เดิมที่ต้องทำรางพิเศษเพื่อรองรับการทำงานของขั้วแม่เหล็ก ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนยานพาหนะประเภทนี้


ต้นแบบรถไฟ Maglev ของไอออนเลฟมีน้ำหนักอยู่ที่ 1 ตัน สามารถทำความเร็วเหนือรางรถไฟธรรมดาด้วยความเร็วกว่า 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนรางรถไฟเส้นทางนอกเมืองเวนิสเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 2 กิโลเมตร โดยที่ไม่ได้มีการดัดแปลงใด ๆ กับตัวรางเดิมเพื่อให้ต้นแบบรถไฟ Maglev วิ่งได้เลย  


ในขณะที่รางรถไฟ Maglev จากผู้พัฒนาอื่น ๆ ต้องอาศัยขดลวดโลหะประกอบภายในราง เพื่อให้เกิดสภาวะเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า ระหว่างส่วนล่างของรถไฟกับราง ซึ่งใช้ต้นทุนการก่อสร้างที่สูงมากเมื่อเทียบกับการสร้างรางรถไฟแบบปกติ ตามข้อมูลที่ไอออนเลฟกล่าวอ้าง


ในอนาคต ไอออนเลฟมีแผนสร้างรถไฟแม็กเลฟต้นแบบ น้ำหนัก 20 ตัน ซึ่งทำความเร็วได้สูงสุด 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ทางบริษัทไม่ได้ระบุเพิ่มเติมว่านี่คือแผนการพัฒนาเป็นรถไฟ Maglev แบบสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าหากสำเร็จแล้ว น้ำหนักและความเร็วที่สูงขึ้น จะยังคงสามารถวิ่งบนรางรถไฟแบบเดิมได้หรือไม่  


โดยในปัจจุบันบริษัทได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ทำระบบขนส่งสินค้าบางประเภท เช่น หน้าต่าง ลิฟต์ และสินค้าที่มีน้ำหนักอื่น ๆ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งแล้ว


“รถไฟไฮโดรเจน” ทำลายสถิติ วิ่งไกลระดับโลก


บริษัท สเตดเลอร์ เรล (Stadler Rail) ผู้ผลิตรถไฟสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ พัฒนารถไฟพลังงานไฮโดรเจน เฟลิร์ต เฮช 2 (Flirt H2) สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลรวม 2,803 กิโลเมตร บันทึกเป็นสถิติโลก กินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดสำเร็จ


สำหรับต้นแบบของรถไฟพลังงานไฮโดรเจน เฟลิร์ต เฮช 2 (Flirt H2) ในตอนนี้ 1 ขบวนประกอบด้วย 3 ตู้ แบ่งเป็น ตู้โดยสารหน้าและท้าย และตู้ตรงกลางเป็นตู้ส่งกำลัง โดยภายในตู้จะมีชุดจ่ายไฟ ซึ่งจะเก็บไฮโดรเจนไว้ในถังเชื้อเพลิง และใช้เซลล์เชื้อเพลิง เพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ป้อนเข้าสู่แบตเตอรี่ และระบบขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า 


ตัวตู้โดยสารของรถไฟต้นแบบ สามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้ 108 ที่นั่ง และขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้มีการสั่งผลิตเพื่อใช้เป็นรถไฟสำหรับหน่วยงานขนส่งซานเบอร์นาร์ดิโนเคาน์ตี ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการทดสอบที่สนามทดสอบในรัฐโคโลราโด ก่อนเริ่มให้บริการในปลายปีนี้


จากการทดสอบ พบว่ารถไฟสามารถวิ่งอย่างต่อเนื่องหลังจากการเติมเชื้อเพลิงเพียงครั้งเดียวได้ไกลถึง 2,803 กิโลเมตร ใช้เวลาในการวิ่งไปทั้งหมด 46 ชั่วโมง 


ตัวเลขนี้ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ ที่อาจจะปูทางไปสู่การเป็นขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืน และลดการปล่อยมลพิษให้โลก มีรายงานว่า องค์การขนส่งแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้สั่งซื้อรถไฟรุ่นนี้แล้ว 4 ขบวน เพื่อรองรับการให้บริการกับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

ข่าวแนะนำ