เปิดเหตุผล ! ทำไมฐานปล่อยจรวดมักตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตร
บริเวณเส้นศูนย์สูตร อัตราการหมุนของโลกจะเร็วที่สุด ดังนั้นการปล่อยจรวดใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงช่วยลดเชื้อเพลิงหรืออาจเพิ่มน้ำหนักบรรทุกได้
สำหรับคนที่คอยติดตามการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศ ไม่ว่าจะขององค์การนาซา (NASA) สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) หรือองค์การอวกาศจีน อาจจะสังเกตเห็นสิ่งที่คล้ายคลึงกันบางประการ เช่น ปล่อยใกล้ทะเล และมักจะปล่อยที่ฐานปล่อยจรวดที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร หรือก็คือเส้นแบ่งครึ่งโลกตามแนวนอน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
การปล่อยจรวดใกล้ทะเล เหตุผลคือเรื่องของความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุในการปล่อยจรวด ชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็จะตกลงทะเล ซึ่งไม่ทำอันตรายให้กับผู้คน แต่ทั้งนี้ก็มีฐานปล่อยจรวดบางแห่งที่ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้ทะเล เช่น ฐานปล่อยจรวดไบโคนูร์คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome) ในประเทศคาซัคสถาน แต่เส้นทางการบินของจรวด ก็อยู่ในเส้นทางที่ไม่มีผู้คนเช่นกัน
ส่วนการปล่อยที่ฐานปล่อยจรวดใกล้เส้นศูนย์สูตร เหตุผลคือเพราะกำลังใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของโลก นั่นเพราะโลกของเราไม่ได้เป็นทรงกลมอย่างสมบูรณ์ แต่จะมีลักษณะคล้ายผลส้ม โดยบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งตั้งฉากกับแกนหมุนของโลก จะมีความนูนกว่าบริเวณอื่น ๆ เนื่องจากมีแรงหนีศูนย์กลางที่มาก
ดังนั้นเมื่อมีเส้นรอบวงที่กว้างกว่า มันจึงมีอัตราการหมุนที่สูงกว่าบริเวณอื่น ๆ ของโลก คือมีอัตราการหมุนประมาณ 1,650 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นยิ่งปล่อยจรวดใกล้เส้นศูนย์สูตรมากเท่าไหร่ ก็แปลว่าจะมีแรงส่งจากการหมุนของโลกมากเท่านั้น และนั่นหมายถึงการลดปริมาณเชื้อเพลิงในการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศ รวมถึงอาจเพิ่มน้ำหนักบรรทุกบนจรวดได้ด้วย
ทั้งนี้มีกรณีศึกษาคือจรวดโซยุสของรัสเซีย เคยปล่อยที่ฐานปล่อยจรวดศูนย์อวกาศเกียร์นา (Guiana Space Center) เมืองคูรู เมืองโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ โดยตั้งอยู่ที่ 5 องศาเหนือของเส้นศูนย์สูตร และอีกครั้งเคยปล่อยที่ ฐานปล่อยจรวดไบโคนูร์คอสโมโดรม ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ 45 องศาเหนือของเส้นศูนย์สูตร พบว่า ตอนที่ปล่อยที่ศูนย์อวกาศเกียร์นา สามารถเพิ่มน้ำหนักบรรทุกได้มากกว่าร้อยละ 60 เลยทีเดียว
และนี่ก็คือเหตุผลที่ฐานปล่อยจรวดหลายแห่งมักตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของโลกได้อย่างคุ้มค่าทีเดียว
ที่มาข้อมูล IFLScience
ที่มารูปภาพ Pixabay
ข่าวแนะนำ