TNN จีนสร้างหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยสเต็มเซลล์ที่ทำให้คล้ายสมองมนุษย์

TNN

Tech

จีนสร้างหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยสเต็มเซลล์ที่ทำให้คล้ายสมองมนุษย์

จีนสร้างหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยสเต็มเซลล์ที่ทำให้คล้ายสมองมนุษย์

นักวิจัยจากจีนสร้างหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยสเต็มเซลล์​ (Stem cell) ที่กระตุ้นให้เติบโตและทำหน้าที่คล้ายสมองมนุษย์ โดยสามารถหลีกสิ่งกีดขวางและรับสัมผัสบางประเภทได้แล้ว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทียนจิน (Tianjin University) ประกาศสร้างหุ่นยนต์ที่นำเซลล์เพาะเลี้ยงส่วนสมองของมนุษย์มาเป็นตัวสั่งการและรับข้อมูล พร้อมกับเคลมว่าเป็นการวิจัยระบบโต้ตอบข้อมูลเชิงซ้อนอัจฉริยะแบบฝังสมองบนชิปที่เปิดให้เข้าถึงแบบสาธารณะเป็นงานแรกของโลก (the world’s first open-source brain-on-chip intelligent complex information interaction system)


คุณสมบัติหุ่นยนต์ที่ใช้สเต็มเซลล์คล้ายสมองมนุษย์

หุ่นยนต์ดังกล่าวมีชื่อว่าเมตาบ็อก (MetaBOC: Brain-on-Chip) เป็นหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ โดยส่วนหัวแสดงให้เห็นถึงสเต็มเซลล์ที่รวมกันเป็นก้อนเนื้อซึ่งเชื่อมต่อกับสายไฟฟ้า ทำหน้าที่เป็นส่วนสั่งการของหุ่นยนต์


ในรายงานที่อ้างจากสำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (South China Morning Post) ระบุว่า หุ่นยนต์สามารถตอบสนองกับประสาทสัมผัสทางไฟฟ้า (electrical sensory) แต่ไม่มีตาเพื่อรับภาพ โดยหุ่นยนต์สามารถหยิบจับสิ่งของ หลบหลีกสิ่งกีดขวาง และใช้ประสาทสัมผัสเทียมในการติดตามวัตถุได้ โดยมีสมองเทียมที่พัฒนาจากสเต็มเซลล์เป็นตัวกลางในการรับและส่งคำสั่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของหุ่นยนต์


เบื้องหลังหุ่นยนต์ที่ใช้สเต็มเซลล์คล้ายสมองมนุษย์

แม้ว่าความสามารถที่ MetaBOC ทำได้จะไม่ได้โดดเด่นมากนักเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์อย่างเช่นเทสลาบอต (Tesla Bot) หรือออปติมัส (Optimus) ของเทสลา แต่หัวใจสำคัญของการพัฒนาในครั้งนี้ก็คือระบบที่นักวิจัยเรียกว่า Brain-on-Chip


BOC หรือการทำสเต็มเซลล์ให้เติบโตและทำหน้าที่คล้ายสมองของมนุษย์แล้วนำไปเชื่อมต่อกับชิป เพราะแม้ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาให้สมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (brain-computer interface) อย่างนูรัลลิงก์ (Neurallink) ที่ฝังส่วนเชื่อมต่อกับสมองเพื่อสั่งการระบบคอมพิวเตอร์ แต่ MetaBOC คือการพัฒนาสมองเทียมจากสเต็มเซลล์ขึ้นมา และเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ และพยายามฝึกให้เซลล์คิดได้เอง


ระบบ BOC ที่พัฒนาขึ้นมาอาศัยหลักการของสมองมนุษย์ที่มีการสั่งงาานเส้นประสาทที่เป็นคำสั่งทางไฟฟ้า ซึ่งเป็นรูปแบบการสั่งงานเดียวกันกับชิปคอมพิวเตอร์ แม้ว่าในรายละเอียดแล้วสมองจะมีความซับซ้อนทั้งในแง่พัฒนาการและความสามารถ แต่ MetaBOC ได้สาธิตความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้สมองเทียมทำงานได้เอง


หุ่นยนต์ที่ใช้สเต็มเซลล์คล้ายสมองมนุษย์กับคำถามเชิงจริยธรรม

ทั้งนี้ นิวแอตลาส (New Atlas) ได้ตั้งคำถามว่า การพัฒนาสมองเทียมและฝังลงไปกับชิปคอมพิวเตอร์แบบที่ MetaBOC ทำนั้น กำลังเป็นการทำลายจริยธรรมในการทดลอง รวมถึงเป็นการสร้างสิ่งที่มีจิตสำนึก (Consciousness) ขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งในรายงานได้นำเสนอความเห็นของ ดร.เบรตต์ เคแกน (Dr. Brett Kagan) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ (Chief Scientific Officer: CSO) ของบริษัทคอร์ติคัล แลบส์ (Cortical Labs) ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทที่คล้ายกับการทำ MetaBOC ว่า "ในวันหนึ่งที่สมองเทียมจากจานทดลองมีจิตสำนึกขึ้นมา คำถามก็คือ เรามีสิทธิ์ในเชิงจริยธรรมเพื่อทดลองหรือไม่มี เพราะทุกวันนี้เราก็ทดลองกับสัตว์โดยไม่เคยต้องมาคิดมากอะไร ซึ่งผมก็คิดว่าสัตว์เองก็มีจิตสำนึกในระดับหนึ่งเหมือนกัน"


โดยในงานวิจัยยังระบุอีกด้วยว่า การพัฒนาให้สมองเทียมเติบโตและพัฒนาการทำงานได้ใช้คลื่นเสียงแบบอัลตราซาวนด์ (ultrasound) ความเข้มข้นต่ำในการช่วยกระตุ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะช่วยในเรื่องของการซ่อมแซมเนื้อเยื่อสมองที่เสียหาย รวมถึงพัฒนาการรักษาโรคที่ผิดปกติในสมองด้วยเช่นกัน โดยงานวิจัยได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ “เบรน” (Brain) ของออกซ์ฟอร์ดอะคาเดมิก (Oxford Academic) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ข้อมูลจาก New AtlasInteresting EngineeringNew York Post

ภาพจาก Tianjin University (ภาษาจีน)


ข่าวแนะนำ