TNN นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสร้าง “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

TNN

Tech

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสร้าง “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสร้าง “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พัฒนาวัสดุคล้ายแก้วแบบใหม่ที่ไม่มีวันแตกหัก และยังสามารถยืด บิดงอ และนำไฟฟ้าได้อีกด้วย

กลุ่มนักวิจัยด้านวิศวกรรมเคมีและชีวโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต (North Carolina State University) ในสหรัฐอเมริกา พัฒนาสารคล้ายกระจกที่ตั้งชื่อให้ว่า เจลแก้ว หรือ กลาสซี่ เจล (Glassy Gel) โดยมีความโปร่งใสแทบไม่ต่างจากแก้วทั่วไป แต่มีความยืดหยุ่นสูง ไม่แตกหัก ไม่เปราะ บิดงอ และนำไฟฟ้าได้ด้วย


คุณสมบัติ “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

Glassy Gel หรือเจลแก้วดังกล่าว สร้างขึ้นจากสารในกลุ่มพอลิเมอร์ (Polymer) แบบพิเศษที่มีคุณสมบัติโปร่งใสคล้ายแก้ว พร้อมกับการผสมของเหลวที่เรียกว่า ไอโอโนเจล (Ionogel) ที่เป็นสารสังเคราะห์ มีสมบัติเป็นของเหลวคล้ายน้ำที่นำไฟฟ้าในอัตราความเข้มข้นเฉพาะ และเมื่อผสมกันแล้ว จะทำให้ Glassy Gel มีสัดส่วนของของเหลวมากกว่าร้อยละ 54 ของส่วนประกอบทั้งหมด


โดยนักวิจัยได้นำไปขึ้นรูปด้วยการนำ Glassy Gel ที่ผสมกันแล้วฉีดเข้าไปในแม่แบบ ก่อนจะฉายแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือแสง UV เพื่อทำให้ Glassy Gel คงสภาพเป็นแผ่นได้ ก่อนที่จะแกะออกมาจากพิมพ์  ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือแผ่นใสคล้ายแก้ว แต่มีเนื้อสัมผัสแบบเดียวกับเจลที่เมื่อนำของปลายแหลมทิ่มเข้าไป จะไม่ได้แตกหักหรือทะลุ แต่จะยืดออกแทน 


Glassy Gel ยังสามารถนำไฟฟ้าได้จากคุณสมบัติของไอโอโนเจลที่ถูกผสมเข้าไป อีกทั้งยังสามารถดึงยืดได้ถึง 5 เท่า จากความยาวที่แท้จริงของตัวแก้วเจล รวมถึงดัดรูป บิดงอเป็นเกลียวได้ แต่เมื่อ Glassy Gel ได้รับความร้อนโดยการต้มในน้ำ ก็จะคืนรูปร่างที่แท้จริงกลับมา แต่ไม่มีการระเหยหรือเสียสภาพความเป็นแก้วแม้จะโดนความร้อนก็ตาม


ประโยชน์ของ “แก้ว” ที่ไม่มีวันแตก ยืดได้ บิดได้ และนำไฟฟ้าได้ !

จากคุณสมบัติและความสามารถของ Glassy Gel ทำให้นักวิจัยเชื่อว่าจะเกิดการนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก โดยยกตัวอย่างเป็นขวดน้ำ หน้าต่างบนเครื่องบินโดยสาร และความยืดหยุ่นนี้ยังสามารถนำไปใช้กับคอนแทคเลนส์ได้ด้วยเช่นกัน


ในขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยยังชูจุดเด่นของกระบวนการผลิต Glassy Gel ที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำ เพราะกระบวนการขึ้นรูปสามารถใช้แม่พิมพ์แบบใดก็ได้ หรือแม้แต่ขึ้นรูปอย่างอิสระด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ด้วยเช่นกัน โดยงานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการเนเชอร์ (Nature) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว



ข้อมูลจาก SciTech Daily

ภาพจาก Meixiang Wang/NC State University


ข่าวแนะนำ