แม่นยำและอันตรายมากขึ้น ! ระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลแบบใหม่จาก Lockheed Martin
Lockheed Martin จับมือ Rheinmetall พัฒนาระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลที่ชื่อว่า Global Mobile Artillery Rocket System หรือ GMARS ซึ่งพวกเขาอ้างว่ามีความคล่องตัวสูง ยิงระยะไกลได้อย่างแม่นยำ มีความคุ้มค่า และอันตรายอย่างมาก
บริษัทผลิตระบบป้องกันและด้านการบินอย่าง ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ร่วมกับ ไรน์เมทัล (Rheinmetall) ผู้ผลิตยานยนต์และอาวุธสัญชาติเยอรมัน เพื่อพัฒนาระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลที่ชื่อว่า Global Mobile Artillery Rocket System หรือ GMARS ซึ่งพวกเขาอ้างว่ามีความคล่องตัวสูง ยิงระยะไกลได้อย่างแม่นยำ มีความคุ้มค่า และอันตรายอย่างมาก ระบบดังกล่าวเปิดตัวในงานนิทรรศการระดับนานาชาติสำหรับอุตสาหกรรมการป้องกันและรักษาความปลอดภัยอย่าง ยูโรซาโทรี่ (Eurosatory) 2024 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 - 21 มิถุนายนที่ผ่านมา
ระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกล จะมีเครื่องยิงจรวด 2 ช่องของ Lockheed Martin ซึ่งติดตั้งไว้รถบรรทุก HX 8×8 ของ Rheinmetall โดยระบบสามารถควบคุมการยิงแบบบูรณาการใหม่ล่าสุด นอกจากนี้ยังมีระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ GPS ในตัวสำหรับการนำทาง มีระบบบูมและรอก (GMARS boom-and-hoist system) ช่วยเพิ่มการวางตำแหน่งและบรรจุซ้ำได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการยิงด้วย ด้านพิสัยการยิงทำได้สูงสุด 700 กิโลเมตร
GMARS ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานในทุกสภาพอากาศและใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเคลื่อนที่ได้บนถนนทั่วไปหรือขนส่งทางรถไฟได้ ตัวระบบใช้คนควบคุมน้อย 2-3 คน รวมถึงห้องโดยสารก็ออกแบบมาให้มีการป้องกันด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้ยิงขีปนาวุธได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง (Multiple Launch Rocket System หรือ MLRS) , ขีปนาวุธโจมตีระยะไกลแบบแม่นยำ (long-range Precision Strike Missile หรือ PrSM) และระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Army Tactical Missile System หรือ ATACMS)
สำหรับคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของระบบ GMARS คือ Shoot-and-Scoot Capability หรือ ยุทธวิธีในการยิงแล้วสามารถเคลื่อนออกออกจากตำแหน่งการยิงได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการถูกยิงสวนกลับ ซึ่งความสามารถในการเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วนี้ ได้จากรถบรรทุก HX 8×8 ของ Rheinmetall ที่วิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 62 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวรถมีความยาว 9.8 เมตร กว้าง 2.5 เมตร รวมถึงมีน้ำหนักรวมทั้งระบบไม่เกิน 40 ตัน ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่
ในอนาคตระบบอาวุธนี้อาจถูกพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นและมีคุณสมบัติมากขึ้น คืออาจใช้ยิงขีปนาวุธร่อนแบบยิงจากภาคพื้นดิน (Surface-Launch Cruise Missile) และจรวดขนาด 122 มิลลิเมตร แสดงให้เห็นถึงความยืนหยุ่นในการรองรับการทำงานของตัวระบบ
เว็บไซต์ Interesting Engineering เผยว่า มีแนวโน้มที่ สมาชิกต่าง ๆ ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) จะนำระบบอาวุธใหม่นี้เข้าไปในคลังแสงของตน ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่ามีลูกค้าชาวยุโรปอย่างน้อย 4 รายที่กำลังหารือเพื่อซื้อระบบนี้ และแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนและหลายปีข้างหน้า เนื่องจากประเทศในยุโรปส่วนใหญ่มองเห็นความจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถด้านอำนาจการยิงของตน
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Rheinmetall
ที่มารูปภาพ Rheinmetall
ข่าวแนะนำ