TNN ญี่ปุ่นพบโครงสร้างลึกลับใต้พีระมิดกิซาที่อิยิปต์ มั่นใจเป็นฝีมือคนทำแน่นอน

TNN

Tech

ญี่ปุ่นพบโครงสร้างลึกลับใต้พีระมิดกิซาที่อิยิปต์ มั่นใจเป็นฝีมือคนทำแน่นอน

ญี่ปุ่นพบโครงสร้างลึกลับใต้พีระมิดกิซาที่อิยิปต์ มั่นใจเป็นฝีมือคนทำแน่นอน

นักวิจัยจากญี่ปุ่นค้นพบโครงสร้างลึกลับบริเวณฝั่งตะวันตกของสุสานพีระมิดกิซาในประเทศอิยิปต์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นโครงสร้างที่ได้รับการก่อสร้างและออกแบบโดยมนุษย์

นักวิจัยสาขาโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) จากญี่ปุ่นค้นพบโครงสร้างลึกลับที่จมและฝังอยู่ใต้ทราย โดยมีลักษณะวางตัวในแนวระนาบ (Horizontal) คล้ายตัวอักษรแอล (L) บริเวณฝั่งตะวันตกของสุสานพีระมิดกิซา (Great Pyramids of Giza) ในประเทศอิยิปต์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นโครงสร้างที่ได้รับการก่อสร้างและออกแบบโดยมนุษย์


ข้อมูลการค้นพบโครงสร้างใต้พีระมิดที่อิยิปต์

โครงสร้างรูปตัว L ที่ค้นพบนั้นมีความกว้างและความยาวอยู่ที่ 10 เมตร โดยอยู่ในบริเวณฝั่งตะวันตกของสุสานพีระมิด ซึ่งเป็นที่ตั้งสุสานพระบรมศพขององค์ชายเฮมิวนู (Hemiunu) ผู้ออกแบบสุสานพีระมิดกิซา 


โดยโครงสร้างที่ว่านี้ตั้งอยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวประมาณ 2 เมตร และตัวโครงสร้างมีความลึกระหว่าง 5 - 10 เมตร จากการสำรวจด้วยเรดาร์แบบที่เรียกว่า GPR (Ground-Penetrating Radar) และเทคนิค ERT (Electrical Resistivity Tomography) 


เทคโนโลยีในการสำรวจโครงสร้างใต้พีระมิดที่อิยิปต์

เทคนิค GPR เป็นการปล่อยคลื่นสัญญาณเรดาร์ลงไปใต้ดิน เพื่อให้เกิดการสะท้อนกลับมายังเครื่องรับ และเนื่องจากวัตถุที่อยู่ใต้ดินจะมีลักษณะการสะท้อนต่างจากชั้นหินหรือน้ำ ทำให้นักสำรวจสามารถสร้างภาพจำลองย้อนกลับจากคุณสมบัติการสะท้อนของเรดาร์ได้


ในขณะที่เทคนิค ERT เป็นการดึงคุณสมบัติสภาพต้านทาน (Resistivity) หรือความสามารถในการต้านทานกระแสไฟฟ้าตามธรรมชาติ ซึ่งสารหรือวัตถุแต่ละประเภทต่างมีค่าเฉพาะตัวมาใช้สร้างภาพ ด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปในใต้ดิน ก่อนที่จะดูผลลัพธ์ความแตกต่างความต้านทานที่ผ่านใต้ดิน บริเวณที่มีค่าความต้านทานแตกต่างจากจุดอื่น ๆ จะเป็นบริเวณที่มีวัตถุใต้ดินอยู่ 


หรือโดยพื้นฐานแล้ว ทั้งสองเทคนิคต่างเป็นความพยายามในการสำรวจโครงสร้างใต้ดินโดยไม่ได้ทำการขุดเจาะเปิดหน้าดิน เปรียบเสมือนกับการเอกซ์เรย์ (X-ray) และอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ใต้ดินแบบหนึ่ง


โครงสร้างใต้พีระมิดที่อิยิปต์มีความหมายอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่แน่นอนยังไม่สามารถระบุได้จากข้อจำกัดในด้านความแม่นยำของเทคนิค ERT และ GPR โดยหนทางเดียวที่จะระบุตำแหน่งและลักษณะโครงสร้างอย่างแม่นยำได้คือการกำหนดขอบเขตค้นหาและทำการขุดเพื่อค้นหาโครงสร้างดังกล่าว ตามที่เสนอในวารสารวิชาการ Archaeological Prospection ที่ตีพิมพ์การวิจัยในครั้งนี้


ในขณะที่การค้นพบนี้อาจจะก่อให้เปิดวงจรลูกโซ่สู่การค้นพบอื่น ๆ ได้ เพราะพีระมิดกิซาและพื้นที่โดยรอบต่างมีนักโบราณคดีค้นหาและสำรวจมาหลายครั้ง แต่เพิ่งมีการค้นพบโครงสร้างตัว L เป็นครั้งแรก ซึ่งทีมนักวิจัยเชื่อว่า โครงสร้างตัว L นี้ มีความสำคัญต่อราชวงศ์ที่สร้างสุสานขึ้นมาอย่างแน่นอน เพียงแต่จำเป็นจะต้องสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายการสร้างที่แท้จริงต่อไป


ข้อมูลจาก Interesting Engineering, Independent

ภาพจาก Tohoku University/Wiley

ข่าวแนะนำ