TNN สหรัฐฯ เตรียมขายแบตเตอรีโซเดียมแล้ว เคลมวงจรใช้งานดีกว่าลิเทียมไอออน 5 เท่า

TNN

Tech

สหรัฐฯ เตรียมขายแบตเตอรีโซเดียมแล้ว เคลมวงจรใช้งานดีกว่าลิเทียมไอออน 5 เท่า

สหรัฐฯ เตรียมขายแบตเตอรีโซเดียมแล้ว เคลมวงจรใช้งานดีกว่าลิเทียมไอออน 5 เท่า

สตาร์ตอัปในสหรัฐอเมริกา ประกาศพร้อมจำหน่ายแบตเตอรีโซเดียมไอออน (Sodium-ion battery) ที่มีรอบการใช้งาน (Cycle) กว่า 50,000 รอบ ดีกว่าแบตเตอรีแบบเดิม 5 เท่า ภายในปีนี้

ลิเทียมไอออน (Lithium-ion) เป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรีทั่วโลก แต่ใน 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา กระแสแบตเตอรีจากโซเดียมไอออน (Sodium-ion) กำลังเป็นที่พูดถึงมากขึ้น เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า และมีปริมาณมากกว่าลิเทียมเกือบ 1,000 เท่า ซึ่งล่าสุด นาทรอน (Natron) สตาร์ตอัปที่เริ่มพัฒนาแบตเตอรีโซเดียมไอออน ในปี 2021 ที่ผ่านมา ประกาศว่าพร้อมที่จะผลิตแบตเตอรีโซเดียมไอออนเพื่อจำหน่ายแล้ว


ข้อมูลแบตเตอรีโซเดียมไอออนจากสหรัฐอเมริกา

แบตเตอรี่ดังกล่าวใช้ชื่อทางการค้าว่า บลูแพ็ก (BluePack™) ให้ความต่างศักย์ไฟฟ้า (Voltage: V) ที่ 48V รองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแส (Current) 800 แอมป์ โดยใช้ระยะเวลาการชาร์จจากหมดเกลี้ยงจนถึงร้อยละ 99 อยู่ที่ไม่เกิน 15 นาที และมีประสิทธิภาพการกักเก็บพลังงาน (Round-trip efficiency) หรือค่าที่แสดงพลังงานที่ปล่อยได้เทียบกับพลังงานที่ใส่เข้าไปอยู่ที่ร้อยละ 97


Natron เคลมว่า แบตเตอรีลิเทียมไอออนทั่ว ๆ ไป นั้นมีวงรอบการใช้งาน (Discharge cycle) อยู่ที่ประมาณ 10,000 ครั้ง แต่แบตเตอรีโซเดียมไอออนของ Natron มีวงรอบการใช้งานมากถึง 50,000 ครั้ง รวมถึงเวลาชาร์จของ BluePack เองก็เร็วกว่าแบตเตอรีลิเทียมไอออนถึง 10 เท่า ด้วยเช่นกัน


ตลาดของแบตเตอรีโซเดียมไอออนในสหรัฐอเมริกา

โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา Natron ได้เปิดตัวโรงงานผลิตแบตเตอรีในเมืองฮอลล์แลนด์ (Holland) รัฐมิชิแกนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตแบตเตอรีโซเดียมไอออนต่อปีอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ (MW) โดยการปรับปรุงระบบการผลิตเดิมที่เป็นแบตเตอรีลิเทียมไอออนให้กลายเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรีโซเดียมไอออนด้วยงบลงทุน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท และจะสร้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 ตำแหน่ง สำหรับชุมชนโดยรอบ


อย่างไรก็ตาม นิว แอตลาส (New Atlas) สื่อด้านเทคโนโลยีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่า ความหนาแน่นของเซลล์แบตเตอรีโซเดียมไอออนของ Natron นั้นอยู่ที่ 70 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม (Wh/kg) ซึ่งยังห่างไกลจากความหนาแน่นของเซลล์แบตเตอรีที่ติดตั้งในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) 


โดย New Atlas ได้ยกตัวอย่างของแบรนด์ CATL จากจีน ที่มีความหนาแน่น 160 Wh/kg ในปัจจุบัน ซึ่งก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ควรเป็น คือระดับ 200 Wh/kg ดังนั้น ถ้า Natron ต้องการขยับกลุ่มเป้าหมายของบริษัทจากแบตเตอรีสำรองไฟในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต ก็ต้องจำเป็นเพิ่มความหนาแน่นให้ได้อย่างน้อยอีก 2 - 3 เท่า ต่อจากนี้



ข้อมูลจาก New Atlas

ภาพจาก Natron via Business Wire


ข่าวแนะนำ