นาซาจับมือโนเกียพัฒนาอินเทอร์เน็ต 4G บนดวงจันทร์ รองรับการสื่อสารความเร็วสูง
นาซาจับมือโนเกียพัฒนาอินเทอร์เน็ต 4G บนดวงจันทร์ รองรับการสื่อสารความเร็วสูงและวางรากฐานสำคัญของการสำรวจอวกาศในอนาคต
ดวงจันทร์เป็นเป้าหมายการสำรวจระยะยาวของมนุษย์ ปัจจุบันนาซามีแผนการก่อสร้างสถานีสำรวจระยะยาว และระบบการติดต่อสื่อสารอินเทอร์เน็ตแบบ 4G หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายรุ่นที่ 4 บนพื้นผิวดวงจันทร์ โดยนาซามีแผนการส่งยานอวกาศที่ติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวไปลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปีนี้
ยานอวกาศที่ติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท อินทูอิทีฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) ส่วนระบบติดต่อสื่อสารอินเทอร์เน็ต 4G ถูกพัฒนาโดยบริษัท โนเกีย (Nokia) ร่วมกับบริษัทพันธมิตร เบลแลป (Bell Labs) โดยยานอวกาศลำนี้สามารถรองรับการควบคุมระยะไกลผ่านทางสัญญาณอินเทอร์เน็ต 4G
“ความท้าทายแรกในการติดตั้งและใช้งานเครือข่ายคือการมีอุปกรณ์เซลลูลาร์ที่รองรับพื้นที่บริการตรงตามข้อกำหนดของนาซา โครงสร้างยาน น้ำหนัก และพลังงานที่เหมาะสม โดยไม่ต้องใช้ช่างเทคนิคที่เป็นมนุษย์ รวมไปถึงทำงานในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแผ่รังสีรุนแรง นับเป็นความท้าทายอย่างมาก” วอลท์ เองเกลันด์ (Walt Engelund) รองผู้ดูแลระบบโครงการและผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีอวกาศของนาซา เปิดเผยกับสำนักข่าว CNN
ในตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการมากนัก บริษัท โนเกีย (Nokia) และบริษัทพันธมิตร เบลแลป (Bell Labs) เปิดเผยข้อมูลบางส่วนว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแบบ 4G ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานบนดวงจันทร์ไม่แตกต่างจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแบบ 4G บนโลกมากนัก
กระบวนการทำงานคล้ายกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ 4G เชิงพาณิชย์ทั่วไป ความเร็วสูงสุดถึง 100 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) เร็วกว่า 3G หลายเท่า โดยโครงสร้างของระบบมีขนาดเล็กเพียงพอที่จะบรรทุกไปพร้อมกับยานอวกาศที่พัฒนาโดยบริษัท อินทูอิทีฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) และเชื่อมต่อเข้ากับรถแลนด์โรเวอร์ ขนาดเล็ก 2 คัน ประกอบด้วย
1. รถแลนด์โรเวอร์ Lunar Outpost ซึ่งจะทำภารกิจค้นหาน้ำแข็งบนดวงจันทร์ในบริเวณหลุมอุกกาบาตตแช็กเคิลตัน (Shackleton Crater)
2. รถหุ่นยนต์สำรวจแบบกระโดด Micro-Nova Hopper ซึ่งใช้การเคลื่อนที่ด้วยการกระโดดสำรวจบริเวณภูเขาไฟเพื่อแสกนหลักฐานอื่น ๆ ของการมีน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์
และด้วยขีดความสามารถของการติดต่อสื่อสารอินเทอร์เน็ตแบบ 4G ทำให้ภารกิจทั้งหมดจะถูกถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ตามเวลาจริง เพื่อชี้ให้เห็นการมีอยู่ของน้ำแข็งบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอากาศสำหรับสิ่งมีชีวิต
ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินอวกาศใช้การสื่อสารผ่านทางวิทยุ แต่เนื่องจากการติดต่อสื่อสารในอนาคตจะต้องใช้กำลังการส่งข้อมูลมหาศาลทำให้การส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากกว่า เช่น การบันทึกคลิปวิดีโอ และสัญญาณถ่ายทอดสดการทำภารกิจความละเอียดสูง
เชื่อว่าโครงการอินเทอร์เน็ตแบบ 4G บนดวงจันทร์จะเป็นการวางรากฐานสำคัญของการสำรวจอวกาศในอนาคต ทั้งภารกิจสำรวจบนดวงจันทร์และภารกิจสำรวจบนดาวอังคาร
ที่มาของข้อมูล edition.cnn.com
ข่าวแนะนำ