TNN ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก

TNN

Tech

ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก

ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก

ชาวรัสเซีย 3 คนสร้างสถิติโลกในการกระโดดร่มจากชั้นสตราโตสเฟียร์ของโลกไปยังขั้วโลกเหนือ เพื่อทดสอบต้นแบบระบบสื่อสารที่จะใช้ในแถบอาร์กติกด้วย

ทีมชาวรัสเซีย 3 คนสร้างสถิติโลกในการกระโดดร่มจากชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) หรือชั้นบรรยากาศที่มีระดับความสูงขึ้นไปจนถึง 50 กิโลเมตรจากพื้นโลก เพื่อร่อนลงมายังบริเวณขั้วโลกเหนือ โดยเป็นส่วนหนึ่งภารกิจทดสอบต้นแบบระบบสื่อสาร ที่จะใช้ในแถบอาร์กติกของโลก


ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก ภาพจาก รอยเตอร์ 

 

ทีมชาวรัสเซียที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย มิคาอิล คอร์นิเยนโก (Mikhail Korniyenko), อเล็กซานเดอร์ ลินนิก (Alexander Lynnik) และ เดนิส เยฟรีมอฟ (Denis Yefremov) โดยพวกเขาได้กระโดดออกจากเครื่องบินอิลยูชิน-76 (Ilyushin-76) ที่ระดับความสูง 10,500 เมตร และใช้เวลาประมาณสองนาทีครึ่ง ในการดิ่งลงก่อนที่จะกระตุกร่มที่ความสูง 1,000 เมตรเหนือพื้นดิน


ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก ภาพจาก รอยเตอร์

 

ซึ่งจากการกระโดดร่มครั้งนี้ ทั้งสามมีอาการบาดเจ็บจากหิมะกัด (frostbite) บริเวณแก้มเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะสวมหน้ากากป้องกันก็ตาม เนื่องจากขณะที่พวกเขากำลังดิ่งพสุธา ด้วยความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พวกเขาต้องเจออุณหภูมิของอากาศขณะนั้น ที่อยู่ที่ประมาณ -50 องศาเซลเซียส


ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก ภาพจาก รอยเตอร์

 

โดยพวกเขาร่อนลงจอดใกล้กับฐานทัพบริเวณขั้วโลก ชื่อว่าฐานบาร์เนโอ (Barneo) ของประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถจ่ายไฟให้กับเซิร์ฟเวอร์ โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล และสร้างการเชื่อมต่อกับดาวเทียมได้ โดยทีมได้มีการปล่อยอุปกรณ์การใช้งานก่อนหน้านี้ จากระดับความสูงที่ต่ำกว่า


ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก ภาพจาก รอยเตอร์

 

โดยทีมงานจากบริษัท อาร์ยู วีดีเอส (RU VDS) ผู้ให้บริการพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลเว็บไซต์ จากประเทศรัสเซีย และผู้จัดการทดสอบดิ่งพสุธาครั้งนี้ กล่าวว่า ปัจจุบันรัสเซียสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบต้นแบบนี้ได้ แม้ว่าบริษัทจะยอมรับว่า ณ จุดนี้ ยังไม่มีอะไรที่เหมือนกับความสามารถของเครือข่ายของบริษัท อิริเดียม คอมมิวนิเคชัน (Iridium Communications Inc.) ของสหรัฐฯ ที่สามารถให้บริการได้ทั้งพื้นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้


สำหรับการสื่อสารในแถบอาร์กติก (Arctic) หรือพื้นที่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ มีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน กำลังแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร เส้นทางการค้า และความได้เปรียบทางการทหาร ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว จึงทำให้ปัจจุบันเริ่มมีหลายบริษัทและองค์กรที่เข้าไปทดสอบการใช้งานเครือข่ายกันมากขึ้น


ข้อมูลจาก reuters, il.mahidol

ข่าวแนะนำ