TNN นักบินอวกาศอาจอาศัยในจอมปลวก ? ส่องแนวคิดสร้างบ้านอวกาศแบบใหม่ของ NASA

TNN

Tech

นักบินอวกาศอาจอาศัยในจอมปลวก ? ส่องแนวคิดสร้างบ้านอวกาศแบบใหม่ของ NASA

นักบินอวกาศอาจอาศัยในจอมปลวก ? ส่องแนวคิดสร้างบ้านอวกาศแบบใหม่ของ NASA

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ผุดไอเดียสร้างที่อยู่อาศัยจากการใช้ถุงทรายบนดวงจันทร์ ดำเนินการสร้างโดยฝูงหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่ได้แรงบันดาลใจจากสังคมปลวกมาสร้างเป็นระบบการทำงาน

ทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ผุดแนวคิดการสร้างที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์ โดยได้เลียนแบบการทำงานจากวิธีการสร้างจอมปลวก และตั้งเป้าหมายว่านวัตกรรมนี้อาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขยายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ไปสู่จักรวาล


แนวคิดนี้คือการสร้างที่อยู่อาศัยจากการใช้ถุงทรายบนดวงจันทร์ (Lunar Sandbags) ซึ่งในถุงทรายก็จะมีตะกอนฝุ่นดินที่ได้มาจากดวงจันทร์ โดยที่อยู่ดังกล่าวจะไม่ใช่ที่อยู่อาศัยถาวร แต่จะเป็นที่อยู่ชั่วคราวที่สามารถสร้างขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้นักบินอวกาศไม่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรง เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้วางแผนและสร้างที่อยู่อาศัยถาวรขึ้นมาจริง ๆ 


สำหรับวิธีการสร้างก็จะใช้ฝูงหุ่นยนต์อัตโนมัติจำนวนมาก คอยเติมตะกอนฝุ่นดินของดวงจันทร์ลงไปในถุงทราย จากนั้นก็จะเริ่มสร้างโครงสร้างต่าง ๆ บนดวงจันทร์ ซึ่งในถุงทรายจะมีเซ็นเซอร์ที่จะช่วยให้หุ่นยนต์สามารถจำแนกส่วนประกอบต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ระบบการทำงานของหุ่นยนต์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากระบบสังคมปลวก ซึ่งปลวกแต่ละตัวจะมีหน้าที่ของตัวเอง เกี่ยวข้องสอดคล้องกันไปทั้งระบบ ทำให้กิจกรรมในรังดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ


ผู้นำการพัฒนาโปรเจ็กต์นี้คือรองศาสตราจารย์เจกัน ทังกา (Jekan Thanga) และนักศึกษาของเขาจากภาควิชาวิศวกรรมการบิน อวกาศและวิศวกรรมเครื่องกล แนวคิดของที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์นี้ได้มาจากการที่ทังกา ได้ดูวิดีโอเกี่ยวกับผลงานของสถาปนิกผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง นาเดอร์ คาลิลี (Nader Khalili) ในทศวรรษ 1980 คาลิลีได้นำเสนอแนวคิดให้นาซา เกี่ยวกับโครงสร้างจากตะกอนฝุ่นดินที่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งในภายหลังคาลิลีก็ได้พัฒนาไอเดียนี้เป็นนวัตกรรมที่เรียกว่า โครงสร้างถุงทรายซูเปอร์อะโดบี (SuperAdobe) แต่มันเป็นโครงสร้างที่สร้างบนโลกของเรา


นักบินอวกาศอาจอาศัยในจอมปลวก ? ส่องแนวคิดสร้างบ้านอวกาศแบบใหม่ของ NASA ทีมนักพัฒนา


จุดเริ่มต้นของทังกาตั้งต้นอยู่บนไอเดียนี้ จากนั้นได้ไอเดียระบบการทำงานต่าง ๆ มาจากกองปลวกในแอฟริกาและออสเตรเลีย โดยชี้ว่า ปลวกเผชิญกับสภาพแวดล้อมแบบทะเลทรายสุดขีดคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ ดังนั้นมันน่าจะศึกษาและนำแนวทางการทำงานมาใช้ได้ ทั้งนี้เขายังได้บอกว่า “สิ่งสำคัญคือวิธีการทำงานไม่ได้ใช้น้ำ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ง”


ปัจจุบันทีมงานของทังกากำลังร่วมมือกับห้องปฏิบัติการณ์เครื่องยนต์ไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การนาซา (NASA) และบริษัทพัฒนาด้านหุ่นยนต์บนอวกาศอย่างเอ็มดีเอ (MDA) เพื่อก่อตั้งสมาคมชื่อลูนาร์ บริค (LUNAR-BRIC) ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในโครงการอาร์เทมิส (Artemis) หรือภารกิจกลับไปเหยียบและสำรวจดวงจันทร์ของนาซา ทั้งนี้ นาซาได้มอบเงินทุนให้โปรเจ็กต์นี้ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18 ล้านบาท และหวังว่ามันจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขยายถิ่นฐานของมนุษย์ไปสู่จักรวาลในท้ายที่สุด


ทั้งนี้ ยังไม่มีเปิดเผยกรอบเวลาอย่างละเอียดของโปรเจ็กต์นี้ แต่ตั้งเป้าใช้กับโครงการอาร์เทมิส ดังนั้นหากพิจารณากำหนดการณ์ของโครงการอาร์เทมิส 3 ซึ่งเป็นภารกิจส่งนักบินอวกาศลงเหยียบดวงจันทร์ที่มีกำหนดปล่อยตัวอยู่ที่เดือนกันยายน 2026 ดังนั้นการพัฒนาการสร้างที่อยู่อาศัยจากการใช้ถุงทรายบนดวงจันทร์ ก็จะต้องเสร็จสิ้นและผ่านมาตรฐานของนาซาภายในระยะเวลาเดียวกันนี้ 


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, NEWS.Arizona.EDU

ที่มารูปภาพ NEWS.Arizona.EDU

ข่าวแนะนำ