ไทยพบแหล่งลิเทียม 14.8 ล้านตัน ใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก เตรียมเป็นผู้เล่นหลักวงการ EV
ไทยพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ใน จ.พังงา มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน ทำให้เป็นประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเทียมใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ช่วยเสริมศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ยานยนตร์ไฟฟ้า (EV)
ถือเป็นข่าวดีในวงการพลังงานของประเทศไทย กับการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมคุณภาพสูงระดับโลก และรัฐบาลชี้ว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
18 มกราคม 2024 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ผลพบ หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วงหรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึก จนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% และแหล่งบางอีตุ้ม ที่กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง โดยลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรติ คาดว่าจะสามารถนำมาผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขนาด 50kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด ไทยยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็น แร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
การค้นพบแร่ศักยภาพลิเธียม-โซเดียม นี้ถือเป็นทั้งข่าวดี และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองแร่ลิเธียมมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง โดยถือเป็นประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ตามคำบอกของนางรัดเกล้า ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค
ทั้งนี้ลิเทียม (Lithium : Li) เป็นโลหะของแข็งสีเงิน น้ำหนักเบาที่สุดในบรรดาธาตุโลหะแข็ง อยู่ในกลุ่มธาตุที่เรียกว่าโลหะอัลคาไล หรือบางคนอาจจะเคยได้ยินในชื่อ “ทองคำขาว” ด้วยคุณบัติน้ำหนักเบา มีความหนาแน่นต่ำที่สุดและสามารถกักเก็บพลังงานได้มากในพื้นที่ขนาดเล็ก มันจึงถูกนำมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ซึ่งใช้ในอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น สมาร์ตโฟน แล็ปท็อป กล้องดิจิทัล แม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ก็จะมีน้ำหนักเบา สามารถเก็บพลังงานได้มากขึ้นและมีอายุการใช้งานนานขึ้น ความต้องการลิเทียมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหลักก็มาจากภาคส่วน EV นี้เอง เพราะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจโลกที่มีคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2025 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปี 2030 รวมถึงบริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง แมคคินเซย์ แอนด์ คอมพานี (McKinsey & Company) คาดการณ์ว่าหากความต้องการแบตเตอรี่ลิเทียมเพิ่มขึ้น 30% ต่อปีดังนั้นในทศวรรษหน้าจะต้องมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดเท่ากับโรงงาน Gigafactory ของ Tesla เพิ่มขึ้นถึง 90 แห่งทั่วโลก
นอกจากนี้มีการคาดการณ์ที่น่าสนใจอีกอย่างคือเอ็ม. สแตนลีย์ วิตติงแฮม (M. Stanley Wittingham) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 2019 ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานแบตเตอรี่ EV ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เคยบอกว่า ลิเทียมจะยังคงมีความสำคัญในระยะยาว ในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้าก็จะยังสำคัญอยู่
ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า การค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในประเทศไทยครั้งนี้ ก็คงส่งผลกระทบที่น่าสนใจให้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจบ้านเราไม่น้อยทีเดียว
ที่มาข้อมูล Thaigov, McKinsey & Company
อัพเดตข้อมูล 3 อันดับประเทศผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย ชิลี และจีน Developmentaid
ที่มารูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ