ทำธุรกรรมด้วย Bitcoin ครั้งเดียว เสียน้ำมากกว่าทำธุรกรรมด้วยบัตรเครดิต 6.2 ล้านเท่า !
การศึกษาจากเนเธอร์แลนด์พบ การทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์แต่ละครั้งใช้น้ำโดยเฉลี่ยประมาณ 16,000 ลิตร ซึ่งใช้มากกว่าการรูดบัตรเครดิตถึง 6.2 ล้านเท่า
บิตคอยน์ (Bitcoin) เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่มีสิ่งที่ต้องพิจารณามานานแล้วคือพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากที่ใช้ในเครือข่าย และล่าสุดการศึกษาใหม่ยังพบว่ามีการใช้น้ำเป็นจำนวนมากอีกด้วย
การศึกษาใหม่นี้ตีพิมพ์ในวารสารที่ตีพิมพ์งานหลากหลายสาขาอย่างเซลล์ รีพอร์ต ซัสเทนนะบิลิที (Cell Reports Sustainability) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2023 โดยอเล็กซ์ เดอ วรีส์ (Alex de Vries) นักเศรษฐศาสตร์การเงินและนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม (Vrije Universiteit Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยได้ประมาณการณ์ว่าการขุดบิตคอยน์ทั่วโลกใช้น้ำประมาณ 1,600 กิกะลิตรต่อปี ซึ่งนั่นเพียงพอที่จะเอาไปเติมลงในสระว่ายน้ำโอลิมปิกได้ 640,000 สระเลยทีเดียว ซึ่งน้ำเหล่านี้ใช้ในการลดอุณหภูมิของคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่คำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อสร้างบิตคอยน์ใหม่
สำหรับการขุดบิตคอยน์ คือการที่ใช้คอมพิวเตอร์คำนวณโจทย์คณิตศาสตร์ เครื่องแรกที่คำนวณได้จะได้รับรางวัลเป็นบิตคอยน์ ทั้งนี้บิตคอยน์ต้องการการคำนวณประมาณ 350 ล้านล้านครั้งต่อวินาที ซึ่งนั่นใช้ขุมพลังคอมพิวเตอร์จำนวนมากในการประมวลผล และใช้ไฟฟ้าเยอะมากเช่นกัน เพื่อป้องกันความร้อนสูงเกิน คอมพิวเตอร์จำเป็นต้องระบายความร้อนด้วยน้ำ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม อย่างโรงงานผลิตไฟฟ้าก็ใช้น้ำในการทำให้ระบบเย็นลงเช่นกัน
เดอ วรีส์ได้คำนวณว่าการทำธุรกรรมผ่านบิตคอยน์แต่ละครั้งใช้น้ำโดยเฉลี่ยประมาณ 16,000 ลิตร ซึ่งใช้มากกว่าการรูดบัตรเครดิตถึง 6.2 ล้านเท่า และเมื่อบิตคอยน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้น้ำก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ในอเมริกา การขุดบิตคอยน์ใช้น้ำประมาณ 93 - 120 กิกะลิตรต่อปี หรือเทียบเท่าการใช้น้ำของชาวอเมริกันประมาณ 300,000 ครัวเรือน
ส่วนในคาซัคสถาน ซึ่งเป็นแหล่งการขุดบิตคอยน์หลักแห่งหนึ่ง ใช้น้ำ 997.9 กิกะลิตรในปี 2021 ซึ่งประเทศนี้ถือว่ามีวิกฤติน้ำอยู่แล้ว การขุดบิตคอยน์ก็ทำให้วิกฤตินี้แย่ลง
แต่ทั้งนี้ เดอ วรีส์ ก็ได้แนะนำวิธีแก้ปัญหาเพื่อลดการใช้น้ำในการขุดบิตคอยน์อยู่บ้าง เช่น ปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ที่ใช้พลังงานน้อยลง หรือให้ใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต้องใช้น้ำ เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Cell
ที่มารูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67