Google เปิดตัวโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพใหม่ในเนวาดา
Google เปิดตัวโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพรูปแบบใหม่ จะจ่ายไฟให้กับศูนย์ข้อมูลของ Google สองแห่งในเนวาดา
กูเกิล (Google) เดินหน้าโรงงานพลังงานความร้อนใต้พิภพ ผลิตกระแสไฟฟ้าไร้คาร์บอน เข้าสู่โครงข่ายสำหรับจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับศูนย์ข้อมูลของกูเกิล 2 แห่งในรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนี่นับว่าเป็นก้าวต่อไปสู่เป้าหมายของบริษัทในการผลิตและส่งมอบพลังงานไฟฟ้าไร้คาร์บอนให้กับศูนย์ข้อมูลและสำนักงานทั้งหมดภายในปี 2030 นี้
โดยกูเกิลได้ร่วมมือกับ เฟอร์โว เอเนอร์จี (Fervo Energy) บริษัทสตาร์ตอัปด้านพลังงานสะอาดตั้งแต่ปี 2021 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งความร้อนใต้ดินที่มีระดับความลึกต่ำกว่าแหล่งความร้อนใต้ดินตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า อีจีเอส (EGS - enhanced geothermal system)
กระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีนี้ มีข้อดีที่เหนือกว่ากาใช้พลังงานหมุนเวียนตามธรรมชาติแบบอื่น ๆ ตรงที่สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ไม่ต้องคอยแสงแดด เหมือนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และไม่ต้องคอยกำลังลม เหมือนกับการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าแบบทั่วไป
ก่อนหน้านี้บริษัท เฟอร์โว เอเนอร์จี ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี EGS เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 3.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับบ้านเรือนได้ประมาณ 2,600 หลัง และยังนับเป็นครั้งแรกที่มีบริษัทด้านพลังงานสามารถพิสูจน์ว่า EGS สามารถทำงานได้ในระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย
ซึ่งในพื้นที่โครงการในรัฐเนวาดา บริษัทเฟอร์โว เอเนอร์จี ได้ทำการขุดเจาะหลุมลงไปในดินลึก 8,000 ฟุต หรือราว 2.5 กิโลเมตร และได้เจาะต่อหลุมต่อไปในแนวนอน จากนั้นจึงได้เจาะสร้างรอยแตกในชั้นหิน และเจาะหลุมที่สอง ขยายมาทางแนวนอน ให้พาดผ่านรอยแตกชั้นหินที่ทำไว้
เมื่อเตรียมการเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะสูบน้ำเย็นลงไปยังหลุมแรก แล้วสูบน้ำต่อจากหลุมแรก ผ่านรอยแตกของหิน เข้าสู่หลุมที่สอง ทำให้ระหว่างทาง น้ำก็จะดูดซับความร้อนจากชั้นหินไปเรื่อย ๆ ความร้อนที่ได้นี้ จะนำไปใช้ในการสร้างไอน้ำ ที่จะนำไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า จากนั้นน้ำที่ใช้เสร็จและเย็นลงแล้ว ก็จะถูกสูบกลับลงไปในหลุมแรก เพื่อหมุนวนใช้ในวงจรต่อไป
วิธีการนี้จึงช่วยเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ในการผลิตไฟฟ้า มาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ใช้ได้ตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้พลังงานสะอาดไร้คาร์บอนแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
ข้อมูลจาก engadget, blog.google, apnews
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67