กัวเตมาลาทำ “บ้าน” ต้านแผ่นดินไหว ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำทั้งหลังเสร็จใน 26 ชั่วโมง !
กัวเตมาลามีบ้านหลังแรกที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พร้อมสามารถต้านทานแรงจากแผ่นดินไหวได้เป็นครั้งแรกของประเทศที่ใช้เวลาสร้างเพียง 26 ชั่วโมงทำงาน
บ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ กำลังได้รับความนิยมจากหลายประเทศ จากความแข็งแรงทนทาน และทำการก่อสร้างได้ไว รวมถึงในประเทศกัวเตมาลา หนึ่งในประเทศแถบอเมริกากลาง (Central America) ที่มีบ้านหลังแรกที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พร้อมสามารถต้านทานแรงจากแผ่นดินไหวได้เป็นครั้งแรกของประเทศ โดยกระบวนการสร้างบ้านทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 26 ชั่วโมงทำงานเท่านั้น
“บ้าน” จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่สวยและเรียบง่าย
ตัวบ้านเป็นแบบชั้นเดียว โดยผนังคอนกรีตมีความสูง 3 เมตร ทั้งหมดขึ้นรูปด้วยการพิมพ์จากบอดทูในลักษณะเป็นชั้นหล่อขึ้นรูป โดยตัวบ้านมีพื้นที่ทั้งหมด 49 ตารางเมตร ส่วนหน้าบ้านเป็นผนังคอนกรีตที่ตีโค้งงุ้มเข้ามาบรรจบกันสำหรับวางประตู ส่วนหลังบ้านเป็นผนังแบบครึ่งวงกลมที่เน้นการวางหน้าต่างรับทัศนียภาพด้านหลังที่เป็นภูเขา
ภายในบ้านเน้นการตกแต่งแบบเรียบง่าย ผนังเป็นแบบปูนเปลือย ตรงกลางบ้านเป็นห้องนั่งเล่นที่มีโต๊ะและเก้าอี้ พร้อมพื้นที่ทำอาหารขนาดเล็กที่ติดตั้งเคาน์เตอร์และซิงก์ล้างจานเอาไว้ และมีพื้นที่สำหรับห้องนอน 1 ห้องนอน ที่มีพื้นที่พอสำหรับวางโต๊ะทำงาน และห้องน้ำที่มีทั้งชักโครกและฝักบัว โดยทั้งหมดนี้อยู่ใต้หลังคาที่ทำมาจากใบจาก ซึ่งเป็นประเพณีการทำหลังคาดั้งเดิมของชาวประมงในพื้นที่
การรองรับแรงแผ่นดินไหวของบ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
แบบแปลนทั้งหมดนี้ได้รับการออกแบบให้ต้านแรงแผ่นดินไหวที่มีความแรงปานกลางได้ เนื่องจากกัวเตมาลาเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งอาคารสามารถเสียหายได้ง่าย จากแรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง (Seismic-prone region) โดยคอนกรีตที่ใช้พิมพ์จะเป็นคอนกรีตที่มีส่วนผสมพิเศษที่บริษัทพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้เกิดความแข็งแรง แต่มีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่น ซึ่งสามารถสั่นไหวตามแรงแผ่นดินไหวโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ รวมถึงหลังคาที่ทำจากใบจาก พืชพื้นถิ่นของอเมริกาใต้ ก็ด้วยเหตุผลเรื่องของน้ำหนักเบาและความยืดหยุ่นเพื่อการทนแรงแผ่นดินไหวเช่นกัน
ผลงานก่อสร้างดังกล่าวเป็นของบริษัทปูนซีเมนต์ โปรเกรโซ (Cemento Progreso) ที่จับมือกับโคบอด (COBOD) บริษัทก่อสร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ชื่อดัง ในการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ รุ่นบอดทู (BOD2) ที่มีผลงานทั้งโรงเลี้ยงม้าในรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา อาคารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่เยอรมนี รวมถึงหมู่บ้านจัดสรรในรัฐเท็กซัส โดยบ้านในกัวเตมาลาใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 7 วัน คิดเป็น 26 ชั่วโมงทำงาน ทั้งการขึ้นรูปโดยหุ่นยนต์และการติดตั้งหลังคา หน้าต่าง และส่วนประกอบภายในโดยแรงงานมนุษย์
ทั้งนี้ ทางโคบอดใช้บ้านในกัวเตมาลาเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยการสร้างอาคาร ดังนั้นจึงยังไม่มีแผนขยายการก่อสร้างในตอนนี้ โดยบ้านหลังดังกล่าวตั้งเป้าให้มีราคาถูกเข้าถึงได้ง่าย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยราคาแต่อย่างใด
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ COBOD
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67