SCG-รัฐ-ประชาสังคม ยก “สระบุรี” ต้นแบบ “เมืองคาร์บอนต่ำ” แห่งแรกของไทย พร้อมเสนอ 4 แนวทางคาร์บอนต่ำให้นายกฯ 5 ตุลาคมนี้
เอสซีจี (SCG) พร้อมภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาสังคมอีก 500 คน ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย พร้อม 4 ข้อเสนอสู่สังคมคาร์บอนต่ำเสนอนายกฯ 5 ตุลาคมนี้
SCG, ภาครัฐ, เอกชน และประชาสังคมกว่า 500 คน ผสานความร่วมมือ ระดมสมองด้วยการพัฒนา “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2065 พร้อมเสนอ 4 แนวทาง เร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต่อนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ในงาน ESG Symphosium ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 5 ตุลาคมนี้
4 ข้อเสนอสู่สังคมคาร์บอนต่ำของ SCG และพันธมิตร
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งส่งผลกระทบที่เร็วและรุนแรงขึ้นต่อทุกชีวิตในโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เอสซีจีจึงเชิญชวนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน ระดมสมองหาแนวทางกู้วิกฤตดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023 วันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ผ่าน 4 แนวทาง ดังนี้
- ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
- เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวาระแห่งชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากวัสดุที่ใช้แล้ว นำร่อง 3 อุตฯหลัก บรรจุภัณฑ์-ยานยนต์-ก่อสร้าง
- เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด และส่งเสริมพลังงานทางเลือก
- ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้พึ่งพาตนเองได้ด้วยความรู้เทคโนโลยีลดคาร์บอน แหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อม
โดยทั้ง 4 ข้อเสนอ จะกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี ภายในงานSG Symphosium ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 5 ตุลาคมนี้ โดยมีนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เป็นตัวแทนในการยื่นข้อเสนอ
“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย
จังหวัดสระบุรี ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ปล่อยคาร์บอนสูงมากในประเทศไทย โดยร้อยละ 80 ของการผลิตซีเมนต์ทั้งประเทศนั้นเกิดขึ้นในจังหวัดสระบุรี SCG และพันธมิตรจึงถือเป็นความท้าทาย ในการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้กับทั้งประเทศ
ดร.กิตติพงค์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มองว่า สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เป็นความท้าทายสำคัญของไทยในการสร้างเมืองที่เป็น Net Zero แห่งแรกของประเทศ โดยมีแนวทางตัวอย่างจากทุกภาคส่วน เช่น ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pellets) จากซากพืชในกลุ่มการเกษตร การลดการใช้น้ำด้วยการทำนาเปียกสลับแห้ง การปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วสระบุรี
การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ “วาระแห่งชาติ”
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมี 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมและผลักดันไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ต้องกำหนดกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐานคัดแยก จัดเก็บขยะ ให้เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ ตลอดจนสร้าง Eco System (ระบบนิเวศ) ที่สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัมนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน”
พลังงานต้องเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด และยั่งยืน
หนึ่งในการผลักดันพลังงานสะอาดและยั่งยืนที่สำคัญคือการปลดล็อกข้อจำกัดในการเลือกใช้พลังงานสะอาด เช่น การเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด และส่งเสริมพลังงานทางเลือก
นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สระบุรี กล่าวว่า “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) จะทำให้ทั้งภาครัฐ เอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกัน เพื่อให้เข้าถึงและใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการใช้พื้นที่ว่างเปล่าเพื่อกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ และปรับปรุงนโยบายและสิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้ใช้พลังงานสะอาดโดยตั้งเป้าใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพิ่มจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2050”
“กลุ่มเปราะบาง” กับทุนแลเทคโนโลยีลดคาร์บอนไปด้วยกันได้
SCG เชื่อว่าการช่วยเหลือทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้มีความตระหนักรู้
เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ สร้างความสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG
นางสาวจิตใส สันตะบุตร คนรุ่นใหม่ใจรักษ์โลก กลุ่ม SDG7 Global Youth Ambassador for Southeast Asia กล่าวว่า “กลุ่มเปราะบางที่ขาดทรัพยากร และความรู้ความเข้าใจในการปรับตัว ได้แก่ SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน ควรได้รับจัดสรรความช่วยเหลือ ให้เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศซึ่งมีมากถึง 52 ล้านล้านบาท”
นางสาวจิตใส กล่าวเสริมว่า “ขอเสนอให้ไทยตั้งเป้าขอรับเงินสนับสนุนโครงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปีละ 350,000 ล้านบาท เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต”
SCG มั่นใจ 4 ข้อเสนอ ถึงมือนายกฯ และมีการเปลี่ยนแปลง
ในงานแถลงข่าวของเอสซีจีได้ย้ำผ่านการตอบคำถามกับสื่อมวลชนว่าการบูรณาการการทำงานกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง โดยยกตัวอย่าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” อีกครั้งว่าได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน รวมถึงกองทัพที่เข้ามาช่วยเป็นกำลังและประสานงานต่าง ๆ อีกทั้งทั้ง 4 ข้อเสนอ และสอดรับกับวิสัยทัศน์ที่ นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” กล่าวในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 ด้วย
“ผมเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือบูรณาการกันอย่างแท้จริง ไม่มองเป้าหมายแค่เพื่อตัวเอง หรือเป้าหมายขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เพื่อความอยู่รอดของประเทศ และโลกของเรา ร่วม-เร่ง-เปลี่ยนแก้วิกฤติโลกเดือด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต พร้อมโลว์คาร์บอนเป็นจริงได้แน่นอน” นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวปิดท้ายในงาน
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ SCG
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67