“เจมส์ คาเมรอน” ย้ำทำ ‘เหมือง’ ใต้ทะเลปลอดภัยกว่าอยู่ในลิฟต์ด้วยซ้ำ !
เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ย้ำในฐานะผู้ดำน้ำลึกกว่า 75 รอบ ว่าการทำเหมืองใต้ทะเลในจุดที่เหมาะสมนั้นปลอดภัยกว่าการอยู่ในลิฟต์เสียอีก !
ทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังหายไป ทำให้กระแสการทำเหมืองใต้ทะเลนั้นเป็นที่พูดถึงขึ้นมา แต่ปัญหาก็คือความปลอดภัยและผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม แต่เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ในฐานะผู้ที่ดำน้ำลึกระดับหลายพันเมตรเพื่อถ่ายทำสารคดีกว่า 75 รอบ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การทำเหมืองใต้ทะเลเป็นสิ่งที่ดีและปลอดภัยว่าการยืนในลิฟต์เสียด้วยซ้ำ
ก้นทะเลคือแหล่งเหมืองชั้นดีที่ปลอดภัย
เจมส์ คาเมรอน ได้ให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน (The Guardian) สื่อชื่อดังของอังกฤษ ว่าการทำเหมืองใต้ทะเลนั้นปลอดภัยกว่าอยู่ในลิฟต์โดยสารและยังปลอดภัยกว่าการนั่งบนเครื่องบินด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาและคนทั่วโลกต่างรับรู้ถึงเหตุการณ์เรือดำน้ำไททันที่ประสบอุบัติเหตุที่ระดับความลึกหลายพันเมตรจนลูกเรือทั้งหมดเสียชีวิตในเดือนที่ผ่านมาก็ตาม
โดยเจมส์ คาเมรอน ให้เหตุผลว่า “ผมได้เห็นสิ่งที่น่าสะพรึงที่พื้นทะเลมามากมาย แม้ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่งหลายชนิด แต่มันก็อยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่หากินเล็ก ๆ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ก็มีแต่โคลนสุดลูกหูลูกตา” เขาจึงเชื่อว่าการทำเหมืองใต้ทะเลนั้นไม่กระทบสิ่งแวดล้อมอย่างที่หลายคนคิด
จุดทำเหมืองใต้ทะเลแห่งใหม่อาจทำลายสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม มีการพบแหล่งก้อนแมงกานีสใต้ทะเล หรืออีกชื่อว่าโพลีเมทัลลิก โนดูล (Polymetallic Nodule) ที่พื้นทะเล (Seabed, Seafloor) ในบริเวณที่ชื่อว่าซีซีซี (CCZ: Clarion-Clipperton Zone) บริเวณระหว่างหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ กับเกาะกลีแปร์ตอน (Cliperton) พื้นที่นอกอาณาเขตของฝรั่งเศส ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2,000 กิโลเมตร โดยก้อนแมงกานีสเหล่านี้ประกอบไปด้วยแร่เหล็กที่จับตัวกับแมงกานีส ไฮดรอกไซด์ (Manganese Hydroxide) ในปริมาณมากกว่า 27,000 ล้านตัน ซึ่งสามารถนำไปถลุงเป็นแร่แมงกานีสในอุตสาหกรรมเหล็ก, ถ่านไฟฉาย, ปรับปรุงคุณภาพของแบตเตอรี่ หรือแม้แต่ใช้เป็นส่วนผสมเซรามิกด้วย
อย่างไรก็ตาม บริเวณซีซีซียังมีการค้นพบสัตว์สายพันธุ์พิเศษกว่า 5,000 ชนิด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเชื่อได้ว่าทั้ง 5,000 ชนิด นี้จะได้รับผลกระทบทันทีที่มีการทำเหมืองใต้ทะเลอย่างจริงจัง โดยสำนักบริหารพื้นทะเลสากล (International Seabad Authority: ISA) ได้กำหนดให้พื้นทะเลในบริเวณซีซีซีเป็นเขตสงวนเพื่อผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม หรือเอพีอีไอ (Areas of Particular Environmental Interest: APEI) เพื่อปกป้องสัตว์เหล่านั้นแล้ว และยังเป็นการชะลอแผนพัฒนาเหมืองใต้ทะเลในบริเวณซีซีซีด้วยเช่นกัน
“เจมส์ คาเมรอน” ชี้มีอีกหลายที่ทำเหมืองใต้ทะเลได้
แม้ว่าเจมส์ คาเมรอน จะเป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนร่วมในการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่พื้นทะเล แต่เขาก็ได้กล่าวย้ำถึงประโยชน์จากการทำเหมืองใต้ทะเล โดยอาศัยประสบการณ์จริงที่เคยดำน้ำลึกถึงพื้นทะเลที่ลึกที่สุดในโลกระดับ 10,000 เมตร ว่าการทำเหมืองใต้ทะเลไม่จำเป็นต้องทำในพื้นที่เปราะบางทางระบบนิเวศอย่างซีซีซีก็ได้
โดยในปัจจุบันยังไม่มีการทำเหมืองใต้ทะเลที่ซีซีซีและพื้นทะเลจุดอื่น ๆ ด้วยเหตุผลทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจมส์ คาเมรอนมองว่ามันกลายเป็นเรื่องที่คุยกันคนละมุม โดยเขากล่าวว่า “โลกนี้มันเพี้ยนกันไปหมด ที่มักให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ควร การทำเหมืองในพื้นที่เปราะบางทางระบบนิเวศที่พื้นทะเลมันโคตรจะแตกต่างจากการทำเหมืองที่พื้นทะเลลึก มันไม่มีอะไรเหมือนกันเลย”
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, Wikipedia
ที่มารูปภาพ Wikipedia Commons
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67