TNN น้อง “เอลลา” เด็กจากอนาคตเตือนการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์

TNN

Tech

น้อง “เอลลา” เด็กจากอนาคตเตือนการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์

น้อง “เอลลา” เด็กจากอนาคตเตือนการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์

จะเป็นอย่างไรเมื่อพ่อแม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวของลูกบนโลกออนไลน์มากเกินไป ? โดยบริษัทโทรคมนาคมสัญชาติเยอรมันได้ใช้เทคโนโลยีดีพ เฟค (Deep Fake) สร้างเด็กหญิงจากโลกอนาคต เพื่อเตือนพ่อแม่ถึงอันตรายของการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของลูกบนโลกออนไลน์

นี่คือน้อง “เอลลา (Ella)” เด็กหญิงผู้มาจากโลกอนาคตที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเทคโนโลยีดีพ เฟค (Deep Fake) หรือเทคโนโลยีจำลองใบหน้า ซึ่งถูกสร้างออกมาให้อยู่ในรูปแบบวิดีโอ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ “แชร์วิทแคร์ (ShareWithCare)” ที่มีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้สังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นในการแชร์ข้อมูลส่วนตัวลงบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเหล่าพ่อแม่ในยุคปัจจุบันที่มีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของลูกลงในโลกออนไลน์มากเกินไป 

น้อง “เอลลา” เด็กจากอนาคตเตือนการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์

แคมเปญแชร์วิทแคร์ (ShareWithCare) เพื่อสิทธิของเด็ก 

สำหรับแคมเปญดังกล่าวเป็นผลงานของบริษัทโทรคมนาคมสัญชาติเยอรมันอย่างด็อยท์เชอเท เลอค็อม (Deutsche Telekom) ซึ่งต้นแบบใบหน้าของน้องเอลลามาจากเด็กผู้หญิงวัย 9 ขวบ รายหนึ่งที่ถูกเอไอ (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์จำลองให้ใบหน้าดูโตขึ้น


โดยบริษัทต้องการขับเคลื่อนให้สังคมมีความตระหนักรู้ในการแชร์ข้อมูลของลูกหลานลงบนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีพ่อแม่มากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เผยแพร่รูปภาพของลูกตนเองลงบนโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันพบว่าเด็กในวัย 5 ขวบ มีรูปถ่ายอยู่บนโลกออนไลน์ถึง 1,500 รูป และถูกอัปโหลดโดยพ่อแม่หรือผู้ปกครอง อีกทั้งยังเป็นรูปที่ไม่ได้รับการยินยอมให้อัปโหลด แม้ว่าเด็กจะมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับตัวตนบนโลกดิจิทัลของตนเอง แต่พวกเขาก็ยังเด็กเกินกว่าจะปกป้องสิทธิดังกล่าวด้วยตนเอง


แม้ว่ารูปภาพและวิดีโอของลูก ๆ จะเป็นความทรงจำที่สวยงามของพ่อแม่ แต่กับอาชญากร รูปภาพและวิดีโอเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม

น้อง “เอลลา” เด็กจากอนาคตเตือนการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์

อาชญากรรมที่น่ากลัวกำลังจะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา ! 

โดยอ้างอิงจากนิตยสารสัญชาติอเมริกันอย่างเดอะ นิว ยอร์กเกอร์ (The New Yorker) ชี้ว่าภายในปี 2030 2 ใน 3 ของคดีอาชญากรรมการขโมยข้อมูลส่วนตัวจะเกิดจากการแชร์ข้อมูลส่วนตัวลงบนโลกออนไลน์มากเกินไป โดยเฉพาะการแชร์รูปภาพของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้าข้อมูล, แฮ็กเกอร์, กลุ่มคนใคร่เด็ก หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีจดจำใบหน้าและเสียง


นอกจากนี้ ทางบริษัทยังชี้ด้วยว่าข้อมูลบนโลกออนไลน์ของเด็กควรได้รับการปกป้องและจัดการด้วยมาตรการพิเศษ ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรออกกฎหรือเครื่องมือสำหรับจัดการข้อมูลของเด็กบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

ข้อมูลและภาพจาก Deutsche Telekom

ข่าวแนะนำ