นักศึกษาอเมริกันทำหุ่นยนต์กำจัดไข่เพลี้ยลายจุด หยุดศัตรูพืชทันใจ !
กลุ่มนักศึกษาในสหรัฐอเมริกาสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถขูดทำลายไข่ของเพลี้ยลายจุดที่เกาะตามต้นไม้ได้ด้วยตัวเอง
นักศึกษาจากสหรัฐฯ สร้างหุ่นยนต์กำจัดไข่เพลี้ยลายจุด ที่เป็นศัตรูพืชตัวฉกาจในสวนแอปเปิล, องุ่น, และถั่วเหลือง ด้วยการมองจากกล้อง คิดวิเคราะห์และขูดทำลายทิ้งได้เอง แม่นยำและมีประสิทธิภาพ ปราศจากสารตกค้าง
ข้อมูลหุ่นยนต์กำจัดเพลี้ยลายจุด
หุ่นยนต์ดังกล่าวจะถูกประกอบจากหุ่นยนต์ที่มีในตลาดอยู่แล้วมาต่อยอด ได้แก่ส่วนฐานที่เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาจากบริษัท ฟาร์ม เอ็นจี (farm-ng) ผู้พัฒนาหุ่นยนต์การเกษตรในสหรัฐฯ ประกอบเข้ากับแขนกลเอกซ์อาร์ม (xArm) จากบริษัท ยูแฟกตอรี (UFactory) ผู้ผลิตแขนกลชื่อดังของจีน ผสานเข้าด้วยกันกับกล้องความละเอียดสูงและตัวประมวลผลที่ติดบนฐาน
ตัวหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ไปตามแนวต้นไม้ในสวนด้วยความเร็ว 9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมกับถ่ายภาพต้นไม้เพื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของไข่เพลี้ยลายจุดกว่า 700 ภาพ ระบบจะทำการเรียนรู้และระบุตำแหน่งของไข่เพลี้ยลายจุดเพื่อกำจัด
หลักการทำงานหุ่นยนต์เพลี้ยลายจุด
แขนกลจะขูดทำลายไข่ของเพลี้ยลายจุดที่เกาะตามลำต้นไม้เนื้อแข็ง เช่น แอปเปิล วอลนัต หรือไม้เลื้อยบางชนิดเช่น องุ่นและถั่วเหลือง ด้วยการหมุนปลายแขนที่เป็นแปรง ซึ่งจะช่วยทำลายกลุ่มของไข่เพลี้ยลายจุดกว่า 30 - 50 ฟอง ในแต่ละจุดได้โดยไม่ทำลายเนื้อไม้ ก่อนที่ไข่จะฟักออกมาเป็นตัว ดูดน้ำเลี้ยงของต้นไม้และลดประสิทธิภาพกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของต้นไม้ที่มันเกาะจนเสียหาย
ตัวหุ่นยนต์สามารถทำงานต่อเนื่องได้ระหว่าง 3 - 8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน โดยกลุ่มนักศึกษาเชื่อว่าหุ่นยนต์จะช่วยแก้ปัญหาเพลี้ยลายจุดที่ระบาดกว่าครึ่งประเทศในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปี โดยแค่ในรัฐเพนซิลเวเนีย ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ก็มีมูลค่าความเสียหายจากเพลี้ยลายจุดมากกว่าปีละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท
การประดิษฐ์หุ่นยนต์ในครั้งนี้เป็นการรวมตัวในนามทีมทาร์ทันเพสต์ (TartanPest) จากสถาบันหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University's Robotics Institute) ในรัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อแข่งสร้างหุ่นยนต์เพื่อนวัตกรรมทางอาหารและการเกษตรของบริษัท ฟาร์ม เอ็นจี ที่มีเป้าหมายยกระดับการผลิตอาหารของประเทศด้วยหุ่นยนต์เป็นประจำทุกปี
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ Carnegie Mellon University
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67