นิวเคลียร์หลังบ้าน? บริษัทสหรัฐฯ เปิดตัวเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก คาดใช้ได้ปี 2027
บริษัทเทคโนโลยีนิวเคลียร์สหรัฐฯ ประกาศเปิดตัว AP300 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก เพื่อขยายการเข้าถึงพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ
เวสติ้งเฮาส์ (Westinghouse) บริษัทเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเปิดตัว AP300 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กที่รวมโครงสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้สามารถทำงานได้ในพื้นที่จำกัด โดยมุ่งพัฒนาเพื่อขยายการเข้าถึงพลังงานนิวเคลียร์ที่มุ่งพัฒนาเพื่อขยายการเข้าถึงพลังงานนิวเคลียร์ ตอบโจทย์ความต้องการพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น
แพทริค แฟรกแมน (Patrick Fragman) ประธานและซีอีโอของเวสติ้งเฮาส์ ระบุในการแถลงข่าวว่า ว่า AP300 เป็นเครื่องปฏิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กเพียงเครื่องเดียวในโลก ที่ผลิตบนฐานของเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูง
“การเปิดตัวเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ AP300 SMR ทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ของเวสติ้งเฮาส์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าทั่วโลก และตั้งเป้าหมายกำหนดการส่งมอบ รวมถึงเห็นความต้องการใช้งานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น" แฟรกแมนกล่าว
โดยในการแถลงข่าว เวสติ้งเฮาส์ระบุว่า จะมีกำหนดเริ่มเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ AP300 ในปี 2027 สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ AP300 จะให้พลังงานประมาณ 33% ของเครื่องปฏิกรณ์ AP1000 ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นเรือธงของบริษัท
การผลิตเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กของเวสติ้งเฮาส์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบฟิชชัน ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กนั้นมีต้นทุนในการพัฒนาที่ถูกกว่าอีกด้วย
คาดว่า AP300 จะมีราคาประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.47 หมื่นล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 300 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟให้กับครัวเรือนได้ประมาณ 300,000 ครัวเรือน หากเทียบกับ AP1000 ที่ผลิตไฟได้ประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะมีราคา 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.36 แสนล้านบาท ก็นับว่ามีราคาถูกกว่าถึง 5 เท่า
ทั้งนี้ บริษัทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังมองว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก เป็นแหล่งความร้อนที่ปราศจากคาร์บอนที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า อย่างไรก็ตาม หน่วยงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ (Nuclear Regulatory Commission-NRC) ต้องอนุมัติการใช้งาน AP300 ก่อนที่จะสามารถให้ห้างร้าน หรือครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาจัดซื้อเพื่อนำไปใช้งานได้ก่อนปี 2027 แต่ทีมบริษัทผู้ผลิตระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การอนุมัติจัดจำหน่ายจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ที่มาของรูปภาพ Westinghouse
มีการวิเคราะห์ว่า ในอนาคต สายส่งไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาจะค่อย ๆ หายไปและเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะเข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นใช้งานแหล่งพลังงานใหม่มักต้องการช่วงเวลาเปลี่ยนถ่ายเป็นเวลาหลายปี
โดยเจฟฟรีย์ เอส. เมอริฟิลด์ (Jeffrey S. Merrifield) นักกฎหมายด้านพลังงานนิวเคลียร์ และอดีตกรรมาธิการของหน่วยงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ กล่าวในรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า การแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินหนึ่งแห่งด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ AP300 นั้นง่ายกว่ามาก เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กหนึ่งเครื่องจะสร้างพลังงานได้เกือบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นก่อน ๆ ที่จะถูกใช้ในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เท่านั้น
สำหรับคนที่กังวลด้านความปลอดภัย บริษัทผู้ผลิตระบุว่า AP300 มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเช่นเดียวกับ AP1000 โดยเครื่องปฏิกรณ์ทั้ง 2 เครื่องมีระบบระบายความร้อนแบบ passive และเวสติ้งเฮาส์ยังย้ำว่า หาก AP1000 ถูกใช้งานในพื้นที่แผ่นดินไหวก็จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากระบบความปลอดภัยที่ควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ไว้
และในเบื้องต้น คาดว่า AP300 จะมุ่งเป้าไปเฉพาะที่การขยายการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แม้ว่าจะยังมีความต้องการเครื่องปฏิกรณ์ในประเทศอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ Westinghouse
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67