สหรัฐฯ อนุมัติให้นิวรัลลิงก์ของอีลอน มัสก์ ฝังชิปในสมองมนุษย์
FDA สหรัฐฯ อนุมัติให้นิวรัลลิงก์ (Neuralink) ของอีลอน มัสก์ ฝังชิปในสมองมนุษย์ หลังการทดลองในสัตว์
นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมการปลูกถ่ายไมโครชิปในสมองของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจพันล้านชื่อดัง กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติการทดสอบการฝังชิปกับมนุษย์แล้ว
โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นิวรัลลิงก์ (Neuralink) แจ้งข่าวดีดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ และกล่าวถึงความสำเร็จในขั้นต้นนี้ว่าเป็น “ก้าวแรกที่สำคัญซึ่งวันหนึ่งจะทำให้เทคโนโลยีของเราสามารถช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากได้” โดยเป็นผลมาจากการดำเนินงานที่น่าทึ่งของบริษัท ร่วมกับ FDA ที่ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
ในปัจจุบันนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ยังไม่มีแผนการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองโครงการดังกล่าว แต่ได้ประกาศว่าจะแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้ ขณะที่บนเว็บไซต์ของบริษัทเน้นย้ำว่า นิวรัลลิงก์ (Neuralink) จะดำเนินกระบวนการทางวิศวกรรมทั้งหมดโดยยึดเรื่องความปลอดภัย ความเข้าถึงได้ และความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญประการแรก
ด้านผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่าจะต้องมีการทดสอบการเชื่อมต่อไมโครชิปกับสมองมนุษย์นี้อย่างครอบคลุม ทั้งในด้านเทคนิคและจริยธรรม หากนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ต้องการที่จะให้บริการนี้อย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ในการขออนุมัติจาก FDA เพราะรายงานของรอยเตอร์ (Reuters) สำนักข่าวเจ้าดังของสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคมระบุว่า ก่อนหน้านี้บริษัทพยายามขออนุมัติการทดสอบในมนุษย์จาก FDA มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
อีกทั้งการประกาศข่าวดีในครั้งนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากที่นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน หรืออีพีเอฟแอล (EPFL) ได้ทำการทดลองเชื่อมต่อระบบประสาทเข้ากับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณจากสมองและประสบความสำเร็จในกลุ่มทดลองแรก
ทั้งนี้ Neuralink เป็นบริษัทที่อีลอน มัสก์ร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ภายใต้เป้าหมายที่จะช่วยฟื้นฟูการมองเห็นและการเคลื่อนไหวของผู้คน เพราะเทคโนโลยีตัวนี้มีลักษณะเป็นระบบการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ หรือ Brain-Computer Interfaces (BCI) ซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตให้ผู้ที่มีอาการอัมพาตหรือตาบอดสามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ตโฟนได้ และหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมันอาจจะเป็นการทลายกำแพงการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ช่วยให้มนุษย์สามารถสั่งการทำงานของสมาร์ตโฟนหรือการควบคุมรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยใช้ความคิดในสมอง
โดยนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ได้พัฒนาไมโครชิปเพื่อแปรสัญญาณที่ผลิตจากสมองและถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวไปยังอุปกรณ์ผ่านบลูทูธ ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้มีการทดสอบในลิงมาแล้วตั้งแต่ปี 2017 และเมื่อเดือนเมษายนปี 2021 Neuralink ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอของลิงที่ถูกปลูกถ่ายชิปขณะเล่นเกมด้วยการใช้แค่ความคิดสั่งการเท่านั้น
มัสก์เคยกล่าวก่อนหน้านี้ด้วยว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยคลายความกังวลที่ว่ามนุษย์จะถูกปัญญาประดิษฐ์ (AI) แทนที่ได้
แน่นอนว่าเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์นั้นมีความท้าทายทางด้านศีลธรรมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการทดสอบฝังชิปในสัตว์ที่ทางนิวรัลลิงก์ (Neuralink) เคยถูกสอบสวนเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ละเมิดหลักสวัสดิภาพของสัตว์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากพนักงานของบริษัทได้ออกมาร้องเรียนว่านิวรัลลิงก์ (Neuralink) เร่งรัดการทดสอบจนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตสัตว์โดยไม่จำเป็น ตามรายงานของรอยเตอร์ระบุว่าบริษัทได้คร่าชีวิตสัตว์ทดลองอย่าง หมู แกะ และลิงไปกว่า 1500 ตัว ตั้งแต่ปี 2018 อีกทั้งยังมีความกังวลว่าการทดลองฝังชิปในสมองจะก่อให้เกิดการควบคุมสภาพจิตใจหรือการเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยของมนุษย์
ที่มาของข้อมูล Reuters
ที่มาของรูปภาพ Neuralink
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67