ทีมวิจัยจับมือ NASA ใช้ระบบกล้องดาวเทียม ตรวจจับมลพิษทางทะเลและปะการังฟอกขาว
ทีมวิจัยจากสหรัฐฯ ร่วมมือกับ NASA ใช้ระบบรีโมตเซนซิง และกล้องดาวเทียม ตรวจจับมลพิษทางทะเลและปะการังฟอกขาวในเบลีซ
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอสแอนเจลิส จากรัฐแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เทคโนโลยีการตรวจวัดพื้นที่จากระยะไกล (Remote Sensing) ด้วยกล้องจากดาวเทียมของนาซาเพื่อช่วยตรวจจับปะการังฟอกขาว ทำให้ดูแลปะการังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับปะการังในทะเลโดยทั่วไปมักจะต้องการน้ำใสและอุณหภูมิที่สม่ำเสมอในการเจริญเติบโต แต่หากน้ำขุ่นหรืออุณหภูมิสูงขึ้นจนส่งผลทำให้สาหร่ายชีวภาพที่เป็นอาหารแก่ปะการังตายหรือหายไป ปะการังจะสูญเสียสีเป็นสีขาว ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า ปะการังฟอกขาว
ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงได้นำระบบโมดิส (MODIS) คือ เครื่องมือสร้างภาพค่าสเปกตรัมแสงมาตรฐาน (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer - MODIS) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นที่ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard) ของนาซา (NASA) ในเมืองกรีนเบลต์ รัฐแมริแลนด์ เชื่อมต่อข้อมูลดาวเทียมอะควา (Aqua)
จากนั้นทีมก็จะนำเอาภาพแนวปะการังยาว 298 กิโลเมตรของเบลีซ ที่บันทึกด้วยกล้องของดาวเทียมอะควา ตั้งแต่ปี 2002 ถึงปี 2022 มาวิเคราะห์หาค่าตัวแปรต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิผิวน้ำ และค่าความใส เริ่มจากการตรวจสอบอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในเขตคุ้มครองแต่ละแห่ง และให้คะแนนแต่ละเขตจากเลข 1 ถึง 6 โดยพิจารณาจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่น้อยลงหรือสูงขึ้น ทั้งยังมีการให้คะแนนค่าความใสของน้ำ จากนั้นจึงนำคะแนนมารวมเพื่อกำหนดดัชนีค่าความเสี่ยงการสูญเสียปะการังตั้งแต่ 2 ถึง 12 ซึ่งตัวเลขที่สูงขึ้นหมายถึงความเสี่ยงการสูญเสียปะการังที่เพิ่มมากขึ้น
ท่ีมาของรูปภาพ NASA
การวิเคราะห์ภาพจากระบบโมดิสทำให้นักวิจัยสร้างดัชนีชี้วัดความเปราะบางของสภาพแวดล้อมทางทะเลในเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเบลีซขึ้นมาได้ รวมถึงยังระบุได้ว่าเขตอนุรักษ์ทางทะเลพอร์ตฮอนดูรัส พื้นที่คุ้มครองขนาด 404 ตารางกิโลเมตร ทางตอนใต้ของเบลีซ มีสภาพความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงการเกิดปะการังฟอกขาวสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะช่วยให้หน่วยงานบริหารของเบลีซสามารถวางแผนการซ่อมแซมและปกป้องแนวปะการังในพื้นที่จากผลกระทบของน้ำมือมนุษย์ เช่น การพัฒนาพื้นที่, การประมงเกินขนาด, มลพิษ และสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงวางแผนการอนุรักษ์พื้นที่ใกล้เคียงได้ด้วย
ทีมวิจัยเสริมว่า ดัชนีความเปราะบางเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้กับระบบแนวปะการังอื่น ๆ ทั่วโลกได้ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มตัวแปรอื่น ๆ ที่คุกคามสุขภาพของปะการัง เช่น ความเป็นกรดของน้ำทะเลจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ NASA
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67