ซีอีโอผู้สร้าง ChatGPT ชี้ ! ต้องมีการตั้งหน่วยงานควบคุม AI
แซม อัลแมน (Sam Altman) ซีอีโอของบริษัท โอเพนเอไอ (OpenAI) ผู้สร้างปัญญาประดิษฐ์สุดโด่งดัง แชตจีพีที (ChatGPT) ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ และกระตุ้นให้มีการสร้างกรอบกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
แซม อัลแมน (Sam Altman) ซีอีโอของบริษัท โอเพนเอไอ (OpenAI) ผู้สร้างปัญญาประดิษฐ์ แชตจีพีที (ChatGPT) กล่าวต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐ ว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อแทรกแซงการเลือกตั้ง เป็นประเด็นที่น่ากังวล และผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ขึ้น
ปัญญาประดิษฐ์ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวได้เรียกประชุมซีอีโอด้านเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ผู้บริหารสูงสุดของ Google, สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ผู้บริหารสูงสุดของ Microsoft รวมถึง แซม อัลแมน (Sam Altman) เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องปัญญาประดิษฐ์
โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แซม อัลแมน (Sam Altman) ได้ให้การต่อหน้าคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐเกี่ยวกับความเป็นไปได้ และข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้ เนื่องจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เริ่มพบเห็นการนำโมเดลปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้งานในตลาดมากขึ้น
ซึ่งทาง อัลแมน มองว่า ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ซึ่งอาจเรียกว่า Office for AI Safety and Infrastructure Security หรือ OASIS ตามที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน เพื่อควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ อย่างเช่น การให้และเพิกถอนใบอนุญาตแก่บริษัทด้านเอไอ เพราะที่ผ่านมา จะเห็นตัวอย่างได้จากการใช้งาน ปัญญาประดิษฐ์ แชตจีพีที (ChatGPT) และโปรแกรมอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ที่พบว่าแม้มันจะสามารถใช้ในการตอบคำถามได้อย่างคล้ายคลึงกับการตอบคำถามของมนุษย์ แต่ข้อเสียของมันคืออาจจะมีการสร้างข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ปัญญาประดิษฐ์อาจส่งผลต่อการเลือกตั้ง
โดย อัลแมน กล่าวว่าเขากังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่อาจเกิดขึ้นกับระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะวิธีที่การที่ปัญญาประดิษฐ์จะถูกนำมาใช้เพื่อส่งข้อมูลที่ผิดไปยังเป้าหมายในระหว่างการเลือกตั้ง
อย่างเช่นก่อนหน้านี้ที่มีกรณีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์สร้างภาพอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) โดนตำรวจจับกุม ซึ่งมีการเผยแพร่ลงบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (Twitter) และมีการส่งต่ออย่างแพร่หลาย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นภาพที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดีพ เฟค (Deep Fake) หรือการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ สร้างภาพเหมือนจริงขึ้นมา หรืออย่างกรณีที่มีการใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ ปลอมแปลงใบหน้าของนักการเมืองเพื่อทำคลิปวิดีโอหลอกลวงต่าง ๆ
นอกจากนี้เขายังยอมรับว่าเอไออาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ว่าต่อไป เทคโนโลยีเอไออาจจะมาแทนที่บางอาชีพ และอาจทำให้เกิดการเลิกจ้างในบางกลุ่มอาชีพได้
แนะนำให้จัดตั้งหน่วยงานควบคุม
ทั้งนี้ อัลแมน ยังได้ให้คำแนะนำหลายประการเกี่ยวกับวิธีการที่หน่วยงานใหม่ในสหรัฐฯ จะสามารถควบคุมอุตสาหกรรมนี้ เช่น อาจพิจารณาข้อกำหนดด้านใบอนุญาตและการทดสอบสำหรับการพัฒนาและเผยแพร่โมเดลปัญญาประดิษฐ์
อีกทั้งให้มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและรูปแบบการทดสอบที่เฉพาะเจาะจง ที่จะต้องผ่านก่อนที่จะนำไปใช้งาน รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบอิสระตรวจสอบแบบจำลองก่อนที่จะเปิดตัว และการที่ให้บริษัทต่าง ๆ มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการให้มีการใช้ข้อมูลของตน สำหรับการฝึกอบรมปัญญาประดิษฐ์ และยังเสริมว่าบริษัทอย่าง โอเพนเอไอ (OpenAI) เอง ก็ควรได้รับการตรวจสอบโดยอิสระด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีกำลังก้าวไปอย่างรวดเร็ว จนสมาชิกสภานิติบัญญัติยังสงสัยว่าหน่วยงานที่จะตัดขึ้นมา จะสามารถตามทันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้หรือไม่ ?
ข้อมูลจาก bbc, reuters, theguardian
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67