TNN กล้าทานไหม ? ยาชนิดแรกที่ทำจาก 'อุจจาระ' ของมนุษย์

TNN

Tech

กล้าทานไหม ? ยาชนิดแรกที่ทำจาก 'อุจจาระ' ของมนุษย์

กล้าทานไหม ? ยาชนิดแรกที่ทำจาก 'อุจจาระ' ของมนุษย์

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติยาชนิดแรกที่ทำจากอุจจาระของมนุษย์

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติยาที่ชื่อว่า ‘วาลสท์ (Vowst)’ ซึ่งเป็นยาชนิดแรกที่ทำจากอุจจาระของมนุษย์ที่ได้มาจากการบริจาคและผ่านการคัดกรองมาแล้วอย่างรอบครอบ โดยในเม็ดยามีจุลินทรีย์ชื่อไมโครไบโอตา (Microbiota) อันเป็นจุลินทรีย์ดีที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์

กล้าทานไหม ? ยาชนิดแรกที่ทำจาก 'อุจจาระ' ของมนุษย์ ภาพจาก BioWorld

ป้องกันการติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridioides difficile) ซ้ำ 

เมื่อผู้ป่วยรับประทานยาชนิดนี้เข้าไปจะช่วยป้องกันการติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridioides difficile) ซ้ำได้ ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการท้องร่วง,ปวดท้อง, มีไข้และลำไส้ใหญ่อักเสบ นอกจากนี้ในบางกรณีอาจรุนแรงจนทำให้อวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิต โดยตามการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่าเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์มีส่วนกี่ยวข้องทำให้คนเสียชีวิตประมาณ 15,000 - 30,000 รายต่อปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา


โดยก่อนหน้านี้ตัวยาถูกทำออกมาในรูปแบบของยาใช้ภายนอกแบบสอดผ่านทวารหนักและเป็นการรักษาเชิงทดลอง ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ยากและอยู่นอกเหนือความคุ้มครองจ่ายของประกัน


กล้าทานไหม ? ยาชนิดแรกที่ทำจาก 'อุจจาระ' ของมนุษย์ ภาพจาก Centers for Disease Control and Prevention

ปัจจุบันทางการแพทย์ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาภาวะติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ แต่ยาปฏิชีวนะมีผลข้างเคียงคือการทำลายจุลินทรีย์ดีในร่างกายไปด้วยในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมักติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ซ้ำในเวลาต่อมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) จึงอนุมัติให้มีการใช้ยาวาลสท์เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ดีให้กับลำไส้ โดยสามารถเริ่มรับประทานยาได้หลังสิ้นสุดการใช้ยาปฏิชีวนะ 2-4 วัน และจะต้องรับประทาน 4 แคปซูลต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 วัน ติดต่อกัน


ผลข้างเคียงและผลการทดสอบของยาวาลสท์ (Vows) 

อย่างไรก็ตาม ยาวาลสท์มีผลข้างเคียงที่พบได้คืออาการท้องอืด, อ่อนเพลีย, ท้องผูก, หนาวสั่นและท้องร่วง โดยในการทดลองเปรียบเทียบระหว่างผู้ติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ที่ได้รับยาวาลสท์จำนวน 90 คน และอีก 90 คน ที่ไม่ได้รับยาวาลสท์ พบว่ากลุ่มของผู้ที่ได้รับยาวาลสท์มีอัตราการติดเชื้อซ้ำร้อยละ 12.4 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับยาวาลสท์มีอัตราการติดเชื้อซ้ำถึงร้อยละ 39.8 


ข้อมูลจาก LiveScience

ภาพจาก Pixabay

ข่าวแนะนำ