สวรรค์ของอินโทรเวิร์ต ! แว่น AI ช่วยคิดคำตอบทำให้บทสนทนาลื่นไหล
แว่น AI ผลงานจากนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford University) ที่จะทำให้การนึกคำพูดเพื่อต่อบทสนทนาง่ายขึ้นอีกขั้น
หากไปนัดเดตแรกกับสาวแล้วเจอกับอาการประหม่า หรือเจอกับอาการใจเต้นรัวก่อนสัมภาษณ์เข้าทำงาน ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ด้วยสิ่งประดิษฐ์ใหม่จากนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford University) ที่จะทำให้การนึกคำพูดเพื่อต่อบทสนทนาง่ายขึ้นอีกขั้น
โดยไบรอัน ห่าวผิง เฉียง (Bryan Hau-Ping Chiang) นักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จากสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาแว่นตาอัจฉริยะใหม่ล่าสุดในชื่อว่า ริซซ์จีพีที (RizzGPT) ที่สามารถจับใจความคำพูดของคู่สนทนา แล้วบอกได้ทันทีว่าจะต้องพูดอะไรต่อไป ซึ่งอาจช่วยเหลือกลุ่มมนุษย์อินโทรเวิร์ต (Introvert) ที่มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง มีความสุขกับการอยู่คนเดียว เป็นคนคิดมาก คิดก่อนพูด และในขณะเดียวกันก็พูดน้อย ไม่ชอบเสวนาเรื่องที่ไร้สาระ ฉาบฉวยซักเท่าไรนัก
เฉียงยังอธิบายถึงความสามารถของแว่นตา AI/AR ตัวนี้ผ่านวิดีโอ ที่แสดงให้เห็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 2 คน พูดคุยกัน โดยอลิกซ์ หนึ่งในนักศึกษา ตั้งคำถามกับวรุณ นักศึกษาอีกคนที่สวมแว่นตา ขณะที่แว่น AR ใช้เวลาตีความคำถามเล็กน้อย ก่อนจะสร้างคำตอบขึ้นมาแสดงบนหน้าจอกระจกของแว่น ซึ่งวรุณสามารถอ่านตามได้เกือบจะทันที
แว่นนี้ทำงานโดยการใช้ข้อมูลของวิสเปอร์ (Whisper) แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเป็นโมเดลที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) บริษัทผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก โดยวิสเปอร์ถูกฝึกฝนด้วยไฟล์เสียงหลายภาษาจำนวนมากกว่า 680,000 ชั่วโมง จึงทำให้โมเดลมีความสามารถในการทำความเข้าใจลักษณะของสัญญาณเสียงได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และนำเอาคลังคำพูดจำนวนมหาศาลมาป้อนเป็นคำตอบ
ที่มาของรูปภาพ Bryan Hau-Ping Chiang
ส่วนตัวแว่น ผลิตโดยบริลเลียนต์ แล็บ กลุ่มสตาร์ตอัปโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยตัวแว่นนี้ยังมีไมโครโฟน และจอภาพความละเอียดสูง รวมถึงกล้องเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งจะสื่อสารผ่านระบบบลูทูธ (Bluetooth) ด้วยเว็บแอปพลิเคชันในอุปกรณ์หลัก เช่น สมาร์ตโฟนของผู้ใช้งาน และเมื่อผู้ใช้เริ่มเข้าสู่บทสนทนากับมนุษย์ เสียงในบทสนทนาจะถูกแปลงเป็นตัวอักษรแบบตามเวลาจริง (Real-time) ขณะที่โปรแกรมวิสเปอร์ จะป้อนเสียงสู่โปรแกรมแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยตอบคำถามให้กับผู้ใช้ได้ทันที โดยกระบวนการนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาเสี้ยววินาที ส่วนการโหลดข้อความจะขึ้นอยู่กับความเร็วอินเทอร์เน็ต ดังนั้นหากมีสัญญาณการเชื่อมต่อไม่เสถียร การโหลดข้อความก็อาจจะใช้เวลานานยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้พัฒนาระบุว่า การนำเอาแว่นเหล่านี้ไปใช้ในการเดต หรือการสัมภาษณ์จริง ๆ อาจไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไรนัก อีกทั้งแว่นตัวต้นแบบยังต้องถูกพัฒนาเพื่อเพิ่มความจุแบตเตอรี่ และลดน้ำหนักตัวแว่น และมิติตัวเครื่องลง ทั้งนี้ยังต้องพัฒนาความเร็วในการตอบสนองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ Bryan Hau-Ping Chiang
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67