TNN เครื่องฟอกอากาศสาหร่าย กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่น PM

TNN

Tech

เครื่องฟอกอากาศสาหร่าย กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่น PM

เครื่องฟอกอากาศสาหร่าย กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่น PM

ประเทศสาธารณรัฐเซอร์เบียทดลองติดตั้งเครื่องฟอกอากาศสาหร่ายกลางเมือง ช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอนุภาคฝุ่นพีเอ็ม (PM) ในอากาศ

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสหสาขาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยเบลเกรด (University of Belgrade’s Institute for Multidisciplinary Research) ประเทศสาธารณรัฐเซอร์เบีย ได้ทดลองติดตั้งเครื่องฟอกอากาศสาหร่ายชื่อว่าลิขวิด 3 (Liquid 3) ณ ใจกลางเบลเกรด ประเทศสาธารณรัฐเซอร์เบีย

เครื่องฟอกอากาศสาหร่าย กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่น PM

เครื่องฟอกอากาศลิขวิด 3 (Liquid 3) 

โดยเครื่องฟอกอากาศลิขวิด 3 มีลักษณะเป็นตู้ใสสี่เหลี่ยมคล้ายตู้ปลาที่ด้านในมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 อย่าง นั่นก็คือสาหร่ายขนาดเล็ก, น้ำสะอาดปริมาณ 600 ลิตร, แผงโซลาร์เซลล์และเครื่องปั๊มอากาศขนาดเล็ก


ในส่วนของการทำงาน เครื่องปั๊มอากาศขนาดเล็กจะทำการปั๊มอากาศจากภายนอกเข้าไปภายในตู้สี่เหลี่ยม ซึ่งเครื่องปั๊มจะอาศัยพลังงานไฟฟ้าสำหรับการทำงานจากแผงโซลาร์เซลล์ 


หลังจากนั้นภายในตู้จะมีทั้งน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการสังเคราะห์แสงของพืช โดยสาหร่ายที่เป็นพืชจะทำการเปลี่ยนน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นก๊าซออกซิเจนและปล่อยออกสู่นอกตัวเครื่อง


ฟอกอากาศได้เทียบเท่ากับต้นไม้ 

โดยเครื่องฟอกอากาศนี้มีความสามารถในการฟอกอากาศเทียบเท่ากับต้นไม้โตเต็มวัย 1 ต้น แต่มีความได้เปรียบมากกว่าเนื่องจากสาหร่ายสามารถกำจัดอนุภาคฝุ่นพีเอ็มและโลหะหนักที่มาพร้อมกับฝุ่นพีเอ็มได้ ซึ่งมันสามารถกำจัดโลหะหนักออกจากอากาศได้มากถึง 300 ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตร


อย่างไรก็ตาม เครื่องฟอกอากาศจะต้องมีการเปลี่ยนน้ำภายในตัวเครื่องทุก ๆ 1 เดือนครึ่ง และเครื่องฟอกอากาศ 1 เครื่อง จะมีค่าบำรุงรักษาประมาณ 60 ยูโรต่อเดือน หรือประมาณ 2,200 บาทต่อเดือน นอกจากนี้สาหร่ายขนาดเล็กสามารถทนทานอยู่ได้ในอุณหภูมิระหว่าง 5 ถึง 35 องศาเซลเซียส ทำให้มันไม่เหมาะกับเมืองที่เย็นจัดหรือร้อนจัด


โดยในอนาคต ทีมผู้คิดค้นคาดการณ์ว่าเครื่องฟอกอากาศลิขวิด 3 จะถูกนำมาใช้อย่างจริงจังตามใจกลางของเมืองต่าง ๆ ในประเทศสาธารณรัฐเซอร์เบีย เนื่องจากการเติบโตของเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวมีจำนวนลดลง การนำลิขวิด 3 มาใช้จึงอาจช่วยตอบโจทย์ความต้องการต้นไม้ในตัวเมืองได้

ข้อมูลและภาพจาก Balkan Green Energy News

ข่าวแนะนำ