บริษัทจีนทดสอบต้นแบบจรวดสามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง
บริษัท ซีเอเอส สเปซ (CAS Space) ประเทศจีนทดสอบต้นแบบจรวดสามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง จรวดสามารถทะยานขึ้นสู่ระดับความสูง 1 กิโลเมตร
บริษัท ซีเอเอส สเปซ (CAS Space) ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการทดสอบต้นแบบจรวดที่สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง เปิดหนทางสู่การพัฒนาเทคโนโลยีจรวดที่สามารถเดินทางกลับโลกเพื่อใช้งานใหม่เทียบชั้นจรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) การทดสอบครั้งนี้มีขึ้นบริเวณเมืองไห่หยาง มณฑลซานตง โดยความสำเร็จในการทดสอบต้นแบบได้รับการยืนยันโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS)
ต้นแบบจรวดมีความสูง 2.1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร มีน้ำหนัก 93 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์คู่แบบเทอร์โบเจ็ท (Turbojet) แรงขับดันรวม 1,100 นิวตัน ในระหว่างการทดสอบจรวดสามารถทะยานขึ้นสู่ระดับความสูง 1 กิโลเมตร และลดความเร็วลงเพื่อกลับมาลงจอดบริเวณฐานปล่อยด้วยความเร็ว 2 เมตรต่อวินาที การทดสอบใช้เวลาทั้งหมด 10 นาที
แม้ว่าจรวดในลักษณะที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่จะถูกพัฒนาและใช้งานโดยบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ประเทศสหรัฐอเมริกามาได้ระยะหนึ่งแล้วแต่เทคโนโลยีจรวดของจีนนั้นแตกต่างออกไป กระบวนการพัฒนาทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศจีนและทีมงานวิศวกรจีน
การทดสอบในครั้งนี้นอกจากเป็นการทดสอบระบบขับเคลื่อนจรวด การออกแบบอากาศพลศาสตร์ ยังเป็นการทดสอบระบบรายงานตำแหน่ง การติดต่อสื่อสารระหว่างแท่นลงจอดกับจรวด โดยคาดว่าจรวดจะใช้วิธีการปล่อยจากฐานกลางทะเลและเดินทางกลับโลกด้วยวิธีการลงจอดกลางทะเลเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามบทสรุปและวิธีการที่ดีที่สุดอาจต้องใช้การวิจัยพัฒนาอีกระยะและคาดว่าเทคโนโลยีจรวดแบบใช้งานซ้ำของจีนจะได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ปัจจุบันบริษัท ซีเอเอส สเปซ (CAS Space) มีการพัฒนาจรวดอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีจรวดตามแผนการของบริษัท เช่น จรวด Kinetica 1, จรวด Kinetica-1A, จรวด Kinetica 2, จรวด Kinetica-3H สำหรับใช้งานในภารกิจขนส่งอวกาศและภารกิจท่องเที่ยวบริเวณขอบอวกาศ บริษัทพัฒนาเครื่องยนต์จรวดขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงเหลวของตัวเองมีชื่อว่าซวน หยวน 1 (Xuan Yuan 1) ใช้เชื้อเพลิงเหลวน้ำมันก๊าดและออกซิเจนเหลว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของจรวดที่สามารถเดินทางกลับโลกเพื่อใช้งานใหม่
ที่มาของข้อมูล Interesting Engineering
ที่มาของรูปภาพ en.cas-space.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67