TNN สหรัฐฯ สร้างส่วนเสริมให้โดรนทั่วไปสามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้

TNN

Tech

สหรัฐฯ สร้างส่วนเสริมให้โดรนทั่วไปสามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้

สหรัฐฯ สร้างส่วนเสริมให้โดรนทั่วไปสามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้

บริษัทในเครือโบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐอเมริกา พัฒนาส่วนเสริมที่ติดเข้ากับโดรนทรงเครื่องบินให้กลายเป็นโดรนขึ้นลงในแนวดิ่งได้แล้ว

บริษัท อินสิตู (Insitu) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านโดรนในเครือโบอิ้ง (Boeing) บริษัทอากาศยานและอาวุธชื่อดังของสหรัฐอเมริกา เปิดตัวเทคโนโลยีเสริมที่เปลี่ยนให้โดรนแบบปีกตรึง (Fixed-Wing Drones) ให้กลายเป็นโดรนแบบขึ้นลงในแนวดิ่ง (VTOL: Vertical Take-Off and Landing) ได้สำเร็จ โดยใช้ชื่อระบบว่าแฟลร์ส (FLARES) รองรับการบินในพื้นที่จำกัดและใช้พื้นที่ในการลงจอดน้อยซึ่งรองรับการทำภารกิจหลากหลายรูปแบบ


แฟลร์ส (FLARES: Flying Launch and Recovery System) หรือระบบการบินแบบปล่อยตัวและเก็บกู้ หมายถึงระบบที่ใช้อุปกรณ์เสริมยึดติดกับโดรนปกติที่เป็นแบบปีกตรึงเพื่อทำการขึ้นบินในแนวดิ่ง จากนั้นระบบจะปล่อยโดรนปีกตรึงกลางอากาศให้ทำการบินในแนวราบตามปกติ ตัวอุปกรณ์เสริมก็จะกลับมาลงจอดที่ลานบินอีกครั้งเพื่อรอการช่วยขึ้นบินให้กับโดรนลำถัดไป


ทางบริษัท อินสิตู (Insitu) ได้เสนอระบบแฟลร์ส (FLARES) ที่ประกอบไปด้วยส่วนเสริมสำหรับการขึ้นบินแนวดิ่ง และโดรนที่ใช้คือสแกนอีเกิล ทู (ScanEagle 2) อากาศยานไร้คนขับ (UAV: Unmanned Aerial Vehicle) ที่รองรับการบินมากกว่า 16 ชั่วโมง ด้วยความเร็วสูงสุด 60 นอต หรือประมาณ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกสิ่งของได้มากถึง 18 กิโลกรัม ในขณะที่ส่วนอุปกรณ์เสริมจะบินได้เร็วสุด 30 นอต หรือประมาณ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถทนลมแรงและสภาพกัดกร่อนของทะเลได้เป็นอย่างดี


เป้าหมายการสร้างระบบแฟลร์ส (FLARES) คือ การลดจุดอ่อนของระบบ VTOL หรือการขึ้นและลงจอดโดรนในแนวดิ่งที่ไม่สามารถบรรทุกสิ่งของที่หนักมากเป็นระยะทางไกลได้ เพื่อให้ประสิทธิภาพการสอดแนม การบรรทุกสิ่งของหรือแม้แต่การติดอาวุธในโดรนรูปแบบเดิมนั้นยังคงอยู่ต่อไป



ที่มาข้อมูล New Atlas

ที่มารูปภาพ Insitu

ข่าวแนะนำ