TNN เผยโฉมปลาในทะเลลึกสุดหายาก ที่ความลึกถึง 8,336 เมตร

TNN

Tech

เผยโฉมปลาในทะเลลึกสุดหายาก ที่ความลึกถึง 8,336 เมตร

เผยโฉมปลาในทะเลลึกสุดหายาก ที่ความลึกถึง 8,336 เมตร

พาดำดิ่งลงสู่ใต้ท้องทะเล ไปยลโฉมหน้าปลาทะเลที่อยู่ลึกที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกภาพมาได้ โดยอยู่ที่ความลึกเกินกว่า 8,000 เมตร ช่วยให้นักวิจัยได้ศึกษาความลับของสิ่งมีชีวิต ณ ก้นทะเลได้ดีขึ้น

นักวิจัยเผยโฉมหน้าของปลาใต้ทะเล ถ่ายจากบริเวณใต้พื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือที่ความลึก 8,336 เมตร นับเป็นสถิติใหม่ของการจับภาพปลาทะเลจากจุดที่ลึกที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ได้ โดยเป็นปลาชื่อว่า สเนลฟิช (Snailfish) ถ่ายโดยหุ่นยนต์เดินทะเลอัตโนมัติ ที่ติดตั้งกล้องความละเอียดสูง และถูกหย่อนลงเพื่อสำรวจทะเล ริเวณร่องทะเลลึกอิซุ-โอกาซาวาระ (Izu-Ogasawara) ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น



เผยโฉมปลาในทะเลลึกสุดหายาก ที่ความลึกถึง 8,336 เมตร ภาพจากรอยเตอร์

นอกเหนือจากการถ่ายคลิปวิดีโอนี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถจับตัวอย่างปลาอีก 2 ตัว ที่ความลึกระดับ 8,022 เมตร กลับมาได้ด้วย ทำให้ทุบสถิติการจับปลาทะเลที่อยู่ลึกที่สุดของโลกในตอนนี้ จากสถิติเดิมในปี 2008 ที่เคยจับได้ที่ความลึก 7,703 เมตร


เผยโฉมปลาในทะเลลึกสุดหายาก ที่ความลึกถึง 8,336 เมตร ภาพจากรอยเตอร์

 


อลัน เจมีสัน (Alan Jamieson) นักชีววิทยาทางทะเลผู้นำการสำรวจในครั้งนี้กล่าวว่าการค้นพบนี้ แสดงให้เห็นว่าปลาบางชนิดสามารถอยู่ในมหาสมุทรได้ลึกแค่ไหน และยังทำให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวที่ช่วยให้สัตว์ทะเลน้ำลึกสามารถอยู่รอดได้ ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง 


ซึ่งถ้าสังเกตจากภาพปลาที่ถ่ายมาได้นี้ จะเห็นว่าพวกมันมีดวงตาเล็ก ๆ ลำตัวค่อนข้างใสโปร่งแสง และไม่มีกระเพาะปลา (swim bladder) หรือถุงลมที่ช่วยให้ปลาทรงตัวอยู่ได้เหมือนกับปลาอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามกลไกทางธรรมชาติเนื่องจากแรงดันมหาศาลใต้ทะเล 


และปลาสเนลฟิชนี้ ยังเป็นปลาที่มีมากกว่า 300 สายพันธุ์ และส่วนใหญ่พบได้บริเวณน้ำตื้น แต่การสำรวจนี้ทำให้เห็นว่าปลาชนิดนี้ สามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ได้ แม้แต่ในสภาพแรงดันสูง ตามร่องลึกมหาสมุทรของโลก 


เผยโฉมปลาในทะเลลึกสุดหายาก ที่ความลึกถึง 8,336 เมตร ภาพจากรอยเตอร์

 


สำหรับการสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษา 10 ปี ในการสำรวจประชากรปลาที่อยู่ลึกที่สุดในโลกโดยเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย (University of Western Australia) และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเทคโนโลยีโตเกียว (Tokyo University of Marine Science and Technology)  


ซึ่งหลังจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็หวังว่าจะได้สำรวจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกเพิ่มเติม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ค่อนข้างสูง โดยระบุว่าหุ่นยนต์สำรวจแต่ละตัว ต้องใ้ช้งบกว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6,800,000 บาทในการดำเนินการเลยทีเดียว



ข้อมูลจาก edition.cnn, reutersnbcnews

ข่าวแนะนำ