สร้างโลก 3D ด้วย AI เพียงแค่เขียนบรรยายลักษณะที่ต้องการ
เมื่อ AI ก้าวข้ามการสร้างรูปภาพและวิดีโอ สู่การสร้างโลก 3D !!
การเปิดตัวของปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำอย่าง ChatGPT (แช็ตจีพีที) และ Bing Chat (บิงแช็ต) ส่งผลให้กระแสโลกเมตาเวิร์สถูกพูดถึงลดลง ประกอบกับการการสร้างโลกเสมือนต้องใช้เวลาในการพัฒนาโมเดลสามมิติ เป็นเหตุให้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง เริ่มหันไปทุ่มเทให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับแอปพลิเคชันของตนเองแทน
แต่สำหรับเทคโนโลยีใหม่จาก Opus.ai อาจช่วยผลักดันให้การสร้างโลกเมตาเวิร์สสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น โดยเป็นการต่อยอดจากปัญญาประดิษฐ์สร้างรูปภาพ Midjourney (มิดเจอร์นีย์) หรือปัญญาประดิษฐ์สร้างวิดีโอจากเมตา มาสู่ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้าง "โมเดลสามมิติ" ได้ เพียงแค่พิมพ์คำบรรยายรายละเอียดของโลกเสมือนที่ต้องการสร้างขึ้น
ผู้ที่ทำงานด้านกราฟิกสามมิติจะเข้าใจดีว่า การสร้างโมเดลสามมิติเป็นสิ่งที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกาย, แรงใจ และเวลา เพราะมันมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ทั้งการสร้างโมเดล, การจัดแสง, การจัดเงา และการเติมสี กว่าจะสร้างเมืองได้ 1 เมือง อาจใช้เวลานานหลายเดือน แต่ Opus.ai นี้สามารถเรนเดอร์ภาพขึ้นมาได้ในหลักนาทีถึงหลักชั่วโมง (ขึ้นกับประสิทธิภาพในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์)
As you type, a 3D world emerges.
— Pete (@nonmayorpete) March 29, 2023
This is super cool. pic.twitter.com/3HITKTYzeN
ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างโมเดลสิ่งของ แต่ Opus.ai ยังสามารถสร้างโมเดลมนุษย์ได้ด้วย แม้ยังอยู่ในช่วงของการทดสอบทำให้โมเดลมนุษย์ไม่ค่อยหลากหลาย แต่ก็สามารถสร้างขึ้นอย่างง่ายดาบเพียงแค่บรรยายลักษณะที่ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น โมเดลเหล่านี้ยังสามารถเคลื่อนไหวได้อีกด้วย
ในส่วนของทรัพยากรคอมพิวเตอร์ขั้นต่ำที่รองรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ทีมมีเดียจาก Opus.ai มิได้ให้รายละเอียดเชิงลึกแต่อย่างใด กล่าวเพียงแค่ว่า หากคอมพิวเตอร์สามารถรับชม YouTube (ยูทูบ) หรือ TikTok (ติ๊กต็อก) ได้ ก็สามารถใช้งานปัญญาประดิษฐ์นี้ได้เช่นกัน ซึ่งอาจกล่าวเป็นนัยว่าตัวโปรแกรมอาจจะไม่ต้องการทรัพยากรคอมพิวเตอร์สูงมากเท่าไร
ปัญญาประดิษฐ์จาก Opus.ai นับเป็นการปฏิวัติวงการกราฟิกสามมิติและการสร้างเกมเลยก็ว่าได้ เพราะมันช่วยลดระยะเวลาในการออกแบบโมเดลสามมิติลงอย่างมาก และอาจช่วยให้เราก้าวเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สได้เร็วขึ้นด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Techspot
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67