31 มีนาคม 1970 ดาวเทียม Explorer 1 ของสหรัฐฯ ถูกทำลายในชั้นบรรยากาศ
31 มีนาคม 1970 ดาวเทียม Explorer 1 ของสหรัฐฯ ถูกทำลายในชั้นบรรยากาศ
ดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 (Explorer 1) ดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐอเมริกา โครงการพัฒนาดาวเทียมดวงนี้เริ่มต้นในช่วงการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1958 ในขณะที่ดาวเทียมสปุตนิก 1 (Sputnik 1) ของโซเวียตถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 4 ตุลาคม 1957
ดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเร่งรีบ โดยจรวดขนส่งอวกาศจูปิเตอร์-ซี (Jupiter-C) ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้ต้นแบบจากขีปนาวุธทางการทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา ส่วนตัวดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 ถูกพัฒนาขึ้นโดยห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น JPL หรือ NASA Jet Propulsion Laboratory
ดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 มีความสูง 203 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 15.2 เซนติเมตร น้ำหนักของดาวเทียมประมาณ 13.97 กิโลกรัม มีน้ำหนักน้อยกว่าดาวเทียมสปุตนิก 1 (Sputnik 1) ของโซเวียตที่มีน้ำหนักกว่า 83.6 กิโลกรัม
โครงสร้างของดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 มีรูปทรงคล้ายจรวดติดตั้งเสาอากาศวิทยุ อุปกรณ์ทรานซิสเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนประมาณ 20 ตัว พร้อมเครื่องขยายสัญญาณ เซนเซอร์อุณหภูมิ 5 ตัว เครื่องตรวจจับตะแกรงลวดเพื่อตรวจจับผลกระทบของอุกกาบาตขนาดเล็ก พลังงานไฟฟ้ามาจากแบตเตอรี่ปรอทซึ่งมีน้ำหนักกว่า 40% ของดาวเทียมทั้งดวง
ดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 (Explorer 1) ถูกทำลายขณะตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกในวันที่ 31 มีนาคม 1970 หลังทำภารกิจบนอวกาศนานกว่า 111 วัน จากแผนการเดิมที่กำหนดภารกิจเอาไว้ที่ 120 วัน ความสำเร็จของดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 1 ทำให้โครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกาดำเนินต่อไปและพัฒนาดาวเทียมรุ่นใหม่ ๆ เพิ่มเติมเช่น ดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 3 และ 4 ส่วนดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์ 2 และ 5 ส่งขึ้นสู่อวกาศไม่สำเร็จ โครงการที่ใช้ชื่อดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอร์จบลงที่ลำดับที่ 11 ก่อนที่จะได้รับการเปลี่ยนเป็นดาวเทียมชื่ออื่น ๆ ต่อไป
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67