สภาสหรัฐฯ ซักฟอกผู้นำ TikTok อย่างหนัก หวั่นมีเอี่ยวรัฐบาลจีน-ส่งผลลบต่อเยาวชน
ส.ส. ของสหรัฐฯ หลายต่อหลายคนได้เปิดมหกรรมซักฟอกซีอีโอของ ติ๊กต็อก (TikTok) เว็บไซต์แบ่งปันวิดีโอชื่อดัง ในหลากหลายประเด็น
ส.ส. ของสหรัฐฯ หลายต่อหลายคนได้เปิดมหกรรมซักฟอกซีอีโอของ ติ๊กต็อก (TikTok) บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบวิดีโอสั้นชื่อดัง ต่อหน้าสภาคองเกรส หรือรัฐสภาสหรัฐ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจมีอิทธิพลต่อแพลตฟอร์มดังกล่าว รวมถึงประเด็นด้านเนื้อหาต่าง ๆ ที่ส่งผลด้านลบกับเด็ก
โดยตลอดเวลากว่า 5 ชั่วโมง ในการให้ปากคำกับสภาคองเกรส โซว จื่อ โจว (Shou Zi Chew) CEO ของติ๊กต็อก ได้ให้การปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า TikTok ไม่ได้ส่งข้อมูลให้จีนและไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเขาเริ่มให้การ โดยอ้างถึงรากเหง้าความเป็นชาวสิงคโปร์ และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะรักษา TikTok ให้ปราศจากการชักใยจากรัฐบาลใด ๆ และพวกเขายังได้สร้างระบบปกป้องข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา ไม่ให้ต่างประเทศเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ ในการซักฟอก บรรดา ส.ส. ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของแอปที่มีต่อเด็กในสหรัฐฯ อีกด้วย โดยกล่าวหาว่า TikTok ส่งเสริมเนื้อหาสร้างความผิดปกติในการกินของเด็ก และการขายยาผิดกฎหมาย และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ รวมถึงคอนเทนต์ที่ส่งเสริมการทำร้ายตัวเอง ขณะที่หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยหนึ่งใน ส.ส. จากพรรครีพับลิกัน ได้เปิดเผยรายงานของสื่อสหรัฐฯ ว่าไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของ TikTok ในจีนวางแผนใช้ TikTok เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของพลเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะ
ที่มาของรูปภาพ Reuters
แต่ทางด้านซีอีโอ TikTok ชี้แจงว่าพวกเขาได้ทุ่มเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 51,000 ล้านบาท ในโครงการรักษาความปลอดภัยข้อมูลชื่อโครงการว่า Project Texas ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในการตั้งค่าโปรแกรมจัดเก็บข้อมูลในสหรัฐอเมริกา ผ่านสัญญากับบริษัทออราเคิล (Oracle) ในรัฐเท็กซัส โดยโครงการนี้มีพนักงานดูแลเกือบ 1,500 คน อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หลายคนไม่พอใจกับคำตอบของทางฝั่ง TikTok มากนัก และมองว่าบริษัทไม่ได้แสดงความพยายามท่ีจะสร้างการปกป้องความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้มากพอ
สำหรับสถาบันวิจัยด้านสถิติ Pew Research Center ได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของคนในสหรัฐอเมริกา พบว่าในปี 2021 อัตราผู้ใช้ติ๊กต็อกอยู่ที่อันดับ 8 จาก 8 อันดับ โดยอันดับ 1 เป็นยูทูบ (YouTube) อยู่ที่ 81% อันดับ 2 คือเฟซบุ๊ก (Facebook) อยู่ที่ 69% ส่วน TikTok มีอัตราผู้ใช้อยู่ที่ 21% แต่จำนวนนี้ก็แสดงยอดผู้ใช้ถึงหลัก 100 ล้านคน นั่นเอง
ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐ จะดำเนินการอย่างไรหลังจากการพิจารณาคดี และยังไม่มีการระบุว่า อีกนานแค่ไหนที่สภาจะผ่านกฎหมายเพื่อมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนดำเนินการแบน ติ๊กต็อก ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจีนในการแถลงข่าวเป็นการสามัญ โดยระบุว่า ไม่เคยขอให้บริษัทต่าง ๆ รวบรวมหรือให้ข้อมูลจากต่างประเทศแก่รัฐบาลจีนในลักษณะที่ละเมิดกฎหมายท้องถิ่น และกรณีของ TikTok สหรัฐฯ ถือว่า เป็นการด่วนสรุปว่าติ๊กต็อกมีความผิด และยังเป็นการปราบปรามบริษัทอย่างไม่มีเหตุผล
อย่างไรก็ตาม การที่ซีอีโอของติ๊กต็อก ได้มาอภิปรายต่อหน้าสภาคองเกรสไม่ได้ช่วยบรรเทาความกังวลของสหรัฐฯ ที่มีต่อ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ในจีน และยังไม่ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐล้มเลิกความคิดที่จะแบนแพลตฟอร์มแห่งนี้ในทุกรัฐทั่วประเทศแต่อย่างใดอีกด้วย นอกเสียจากว่า TikTok จะแยกตัวออกจากไบต์แดนซ์เป็นที่เด็ดขาดนั่นเอง
ที่มาของข้อมูล Reuters
ที่มาของรูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67