OpenAI ละทิ้งอุดมการณ์ไม่แสวงหากำไร จงใจไม่เปิดเผยซอร์สโค้ด GPT-4
เมื่อการแข่งขันของธุรกิจต้องมาก่อน ทำให้ OpenAI ปรับเปลี่ยนแผนองค์กรในที่สุด
การเปิดตัว GPT-4 (จีพีที-4) คือ อีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์จาก OpenAI (โอเพนเอไอ) ด้วยโมเดลภาษาประสิทธิภาพสูง จะช่วยยกระดับให้ปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตมีความฉลาดมากขึ้น
แรกเริ่ม OpenAI ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 ในฐานะขององค์กรไม่แสวงกำไร เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์พร้อมอนุญาตให้บริษัทอื่น ๆ นำไปต่อยอด เสมือนเป็นการผลักดันให้ปัญญาประดิษฐ์พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำเพื่อคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติในอนาคตเลยก็ว่าได้
ซึ่งการเปิดให้เข้าถึงเทคโนโลยีของ OpenAI หมายความว่า บริษัทที่นำไปพัฒนาต่อยอดจะสามารถเข้าถึงซอร์สโค้ด (Source Code หมายถึง แก่นโค้ดหลักของโปรแกรม) และสามารถปรับแต่งโค้ดได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนอุดมการณ์เดิมของ OpenAI จะเปลี่ยนไป เมื่อ GPT-4 จะไม่สามารถเข้าถึงซอร์สโค้ดได้อีก !!
I think we can call it shut on 'Open' AI: the 98 page paper introducing GPT-4 proudly declares that they're disclosing *nothing* about the contents of their training set. pic.twitter.com/dyI4Vf0uL3
— Ben Schmidt / @[email protected] (@benmschmidt) March 14, 2023
จะเห็นได้จากเอกสารทางเทคนิคของ GPT-4 ที่ทาง OpenAI ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเชิงลึกของการพัฒนาโมเดลภาษา ไม่ว่าจะเป็นขนาดของโมเดล GPT-4, โครงสร้างฮาร์ดแวร์ที่ใช้ หรือกระบวนการฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์ โดยชี้แจงเหตุผลไว้ว่า เพื่อความปลอดภัยและการแข่งขันทางธุรกิจ
สำหรับกรณีของความปลอดภัย เชื่อว่า OpenAI อาจกังวลว่าหากให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงเทคนิคและชอร์สโค้ด อาจทำให้ผู้ไม่หวังดีนำไปศึกษาและปรับแต่งเพื่อโจมตีปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ GPT-4 ได้
ส่วนกรณีของการแข่งขันทางธุรกิจ สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแนวทางของ OpenAI เปลี่ยนไป (จากเดิมที่ประกาศว่าเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร) นอกจากนี้ ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ยังกล่าวเสริมว่า การพัฒนา GPT-4 ต้องใช้ทรัพยากรมากมาย และในขณะเดียวกันตลาดของปัญญาประดิษฐ์กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ความแข่งขันที่สูงขึ้นนี้ทำให้ OpenAI ไม่สามารถทำระบบเปิดได้อีกต่อไป
ประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปถึงความเหมาะสมในการ "ไม่เปิดเผยข้อมูล" ที่ใช้ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะข้อมูลที่นำมาสอนปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่ได้ขอลิขสิทธิ์นำมาใช้ฝึกสอน ถึงกระนั้น OpenAI ยังคงปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Financial Times
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67