เจาะความล้ำเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ไทย I TNN Tech Reports Weekly
ประเทศไทยเรานี้จะอยู่ในระดับที่ 3 (Third tier) คือ ประเทศที่สามารถผลิตยุทโธปกรณ์ได้บางส่วน มีขีดความสามารถเพียงการซ่อมบำรุง ซึ่งแม้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ก็ถือว่ามีการพัฒนาไปมาก
ความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ของไทย อยู่ในประเทศระดับที่ 3 !?
แม้นวัตกรรมด้านยุทโธปกรณ์ของฝั่งบ้านเราจะยังไม่เทียบเท่ากับประเทศชั้นนำอย่าง สหรัฐ จีน รัสเซีย ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศระดับที่ 1 (First Tier) หรือกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนา ต่อยอดอุตสาหกรรมนี้ในระดับสูงสุด และกลุ่มประเทศระดับที่ 2 (second tier) อย่าง เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ ที่สามารถผลิตและสร้างรายได้จากการส่งออกยุทโธปกรณ์ได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นสูงสุด
โดยประเทศไทยเรานี้จะอยู่ในระดับที่ 3 (Third tier) คือ ประเทศที่สามารถผลิตยุทโธปกรณ์ได้บางส่วน มีขีดความสามารถเพียงการซ่อมบำรุง แต่ไทยเราก็ถือว่ามีการพัฒนาไปมาก จากเดิมที่ต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้เราสามารถผลิตยุทโธปกรณ์ได้บ้าง เพื่อใช้เองในประเทศและวางเป้าเพื่อส่งออกในอนาคต
"อากาศยานไร้คนขับ" ของประเทศไทย !!
อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนขนาดกลาง เรียกอีกอย่างว่า UAV หรือ Unman aerial vehicle คือ อากาศยานที่ไม่ต้องใช้นักบินเข้าไปควบคุมอยู่ภายใน แต่สามารถบังคับสั่งการได้จากระยะไกล อีกชื่อที่ทุกคนอาจรู้จักกันดีก็คือ "โดรน" นั่นเอง โดยปัจจุบันโดรนสามารถแบ่งออกได้หลัก ๆ 2 ประเภทด้วยกัน คือ
1.Multirotor UAVs โดรนที่ใช้งานกันทั่วไป มีความคล่องแคล่ว สะดวก ไม่ต้องใช้รันเวย์ในการบินขึ้นและลงจอด มีการนำไปใช้ในหลายด้าน อย่างที่เราเคยเห็นกัน เช่น โดรนเกษตรกรรม,โดรนกู้ภัย, โดรนถ่ายภาพ, ไปจนถึงโดรนขนส่งสินค้า
2. Fixed-wing drones คล้ายกับ Multirotor UAVs แต่มีความเร็วที่สูงกว่า บินได้นานกว่า เหมาะกับการสำรวจพื้นที่ขนาดกว้าง ข้อเสียคือเราแต่จำเป็นต้องมีรันเวย์ในการบินขึ้นและลงจอดด้วย
โดรนขนาดกลางลำแรกของประเทศไทย เป็นของบริษัทแอโร่เทคโนโลยีอินดัสทรีคอมพานีลิมิเตด หรือ เอทิล ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สทป. ซึ่งเริ่มจากการพัฒนาวิจัยร่วมกับต่างประเทศ และต่อยอดสู่การร่วมทุนเพื่อผลิตและขายให้กับกองทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ปี 2562
โดรนของไทยเราที่อยู่ในแผนการผลิตมีทั้งหมด 3 รุ่นด้วยกัน คือ
1. DP20 : เป็น UAV รุ่นแรกที่ถูกพัฒนาขึ้น มีความยาวปีก 13 เมตร มีจุดเด่นอยู่ที่การบินได้นานมากกว่า 40 ชั่วโมง บินได้ระยะไกลประมาณ 200 กิโลเมตรจากจุดควบคุม บินได้สูงถึง 16,500 ฟุต หรือประมาณ 5 กิโลเมตรจากพื้นดิน และจะทำการส่งมอบให้กองทัพบกในช่วงปลายปีนี้
2. DP20-A : เป็นรุ่นที่กำลังพัฒนาต่อยอดมาจากรุ่น DP 20 มีความยาวปีก 18 เมตร บินได้ไกล 250 กิโลเมตร แต่สามารถเพิ่มระยะบินได้ถึง 2,000 กิโลเมตรหากใช้การบินผ่านดาวเทียม สามารถบรรทุกกล้อง และอาวุธใต้ปีก ติดตั้งระเบิดแบบปล่อยได้ทั้งหมด 16 ลูก
3. DP16 : เป็นรุ่นล่าสุด ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีขนาดเล็กกว่า ด้วยความยาวปีก 10 เมตร ทำภารกิจได้ในระยะหวังผลที่ 100 กิโลเมตร ได้นานกว่า 12 ชั่วโมง เพดานบินอยู่ที่ 10,000 ฟุต หรือ ประมาณ 3 กิโลเมตรจากพื้นดิน สามารถติดตั้งระเบิดแบบปล่อยได้ 3 ลูก มีจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนาห้องนักบินจากไซซ์ขนาดตู้คอนเทนเนอร์ ให้อยู่ในรูปแบบห้องนักบินพกพาได้ ทำให้การเคลื่อนย้ายหรือทำภารกิจได้รวดเร็ว คล่องตัวมากขึ้น
โดรนเหล่านี้จะถูกใช้ในภารกิจป้องกันประเทศเป็นหลัก เช่น การลาดตระเวนตามแนวชายแดน ด้วยการสั่งการผ่านโปรแกรมจากภาคพื้นดิน เพื่อทดแทนการปฏิบัติงานในรูปแบบเดิม ที่ต้องให้นักบินเข้าไปทำการบินอยู่ด้านใน ช่วยลดความเสี่ยงของนักบิน ลดการใช้ทรัพยากรคน ประหยัดงบประมาณและเวลาในการดำเนินงาน
นอกจากการใช้งานด้านความมั่นคงแล้ว โดรนเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้งานในด้านพลเรือนได้ด้วย เช่น การสำรวจสถานการณ์น้ำท่วม โดยอาศัยความสามารถจากกล้องถ่ายภาพที่ติดตั้งอยู่ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที แต่อย่างไรก็ดี โดรนเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้พลังงานจากน้ำมัน หากเปรียบเทียบกับแนวคิดของบางประเทศที่เริ่มมีการพัฒนาไปใช้แรงขับเคลื่อนจากพลังงานสะอาด อย่างโซลาร์เซลล์
"รถเกราะ" ของชัยเสรี
รถเกราะ คือ รถที่ถูกใช้ด้านการทหาร สามารถป้องกันการโจมตีได้มากกว่ารถทั่วไปตามท้องถนน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รถเกราะล้อยางและรถเกราะสายพานหรือตีนตะขาบ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ เช่น สำหรับขนกำลังพล เป็นรถพยาบาล สำรวจเส้นทาง หรือหากมีการติดตั้งอาวุธเพิ่ม ก็สามารถนำไปใช้ในการต่อสู้ได้
รถเกราะของชัยเสรีนั้นเป็นรถเกราะประเภทล้อยาง ขับเคลื่อน 4 ล้อ สามารถใช้งานได้ทั้งบนถนน และสภาพภูมิประเทศอื่น ๆ พัฒนาโดยชัยเสรี ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ขับเคลื่อนภาคพื้นดินมามากกว่า 50 ปี
เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำรถเกราะขึ้นมา 1 คัน จะประกอบไปด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ดังนี้
1. โปรแกรมออกแบบโครงสร้าง
2. การใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรหรือ CNC
3. กระบวนการตัดเหล็กด้วยเลเซอร์ หรือ Laser Cutting
4. เทคโนโลยีการตัดเหล็กด้วยพลังน้ำแรงดันสูง หรือ Water Jet
5. มีกระบวนการขึ้นรูปด้วยเครื่องพับโลหะ หรือ Bending Machin
6. สถานีในการประกอบชิ้นส่วนด้วยอุปกรณ์กำหนดตำแหน่งและจับยึด หรือ Jig & Fixture
รถเกราะของชัยเสรีมีจุดเด่นตรงที่สามารถกันกระสุนได้รอบคัน 360 องศา เนื่องจากถูกออกแบบให้มีการวางเครื่องยนต์ที่ด้านหลังของตัวรถ ต่างจากรถเกราะทั่วไปที่เป็นลักษณะการวางเครื่องยนต์ทางด้านหน้า ซึ่งจะกันกระสุนได้เฉพาะที่ห้องโดยสาร แต่ไม่สามารถป้องกันในบริเวณเครื่องยนต์ได้
ตัวรถใช้ยางรันแฟลต Run Flat System คือ ยางที่สามารถวิ่งต่อไปได้ แม้ไร้ลมยาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาส ให้พลทหารสามารถเคลื่อนที่ออกจากพื้นที่ที่ถูกโจมตีได้มากขึ้น ยางรันแฟลตนี้ผลิตจากยางพาราในประเทศ ผสมยางด้วยสูตรเฉพาะและขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีพิเศษ ทำให้เนื้อยางเป็นชิ้นเดียวอย่างไร้รอยต่อ
- สามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมตามความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น กล้องหลังที่สามารถมองได้ 360 องศารอบคัน หรือติดตั้งป้อมปืนด้านบนตัวรถได้
- ภายในจะมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าทางทหาร สามารถป้องกันคลื่นไฟฟ้ารบกวนได้
- มีระบบแจ้งเตือนจากเลเซอร์ล็อกเป้าหมาย หรือ Laser warning system ทำให้ทราบได้ว่ากำลังจะถูกโจมตีจากทิศทางไหน
- มีระบบแจ้งเตือนจากการจับเสียง หรือ Acoustic detection system ที่ทำให้รู้ได้ว่า เสียงปืนดังมาจากทิศทางไหน และเป็นปืนชนิดใด
- อย่างไรก็ดีรถเกราะล้อยางก็ยังมีข้อจำกัดในการเข้าภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับรถที่เป็นสายพาน ปัจจุบันรถเกราะของชัยเสรีได้มีการส่งมอบและใช้งานแล้วในหลายประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือ UN มาเลเซีย อินโดนีเซีย
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67