"ELIZA" แช็ตบอตตัวแรกก่อน ChatGPT - ถูกสร้างขึ้นให้เป็น นักบำบัดทางจิต !
ก่อนที่จะมี ChatGPT มนุษย์เคยสร้างแช็ตบอตตัวแรกขึ้นตั้งแต่ปี 1960
ChatGPT (แช็ตจีพีที) คือ ปัญญาประดิษฐ์ประเภทแช็ตบอต (Chatbot) ทำกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเวลานี้ ด้วยความสามารถในการตอบคำถามที่หลากหลาย และหลาย ๆ ครั้งที่มันช่วยลดภาระการทำงานบางส่วนลงได้ (เช่น ช่วยเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์) จึงไม่แปลกที่ ChatGPT จะมีผู้ใช้กว่า 100 ล้านคนภายในเวลาเพียง 2 เดือน
ปัญญาประดิษฐ์ประเภทแช็ตบอตได้รับการพัฒนามาอย่างยาวนาน เริ่มต้นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1960 ทั้งนี้ แช็ตบอตตัวแรกนั้นไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการตอบปัญหาที่ผู้ใช้อยากรู้ หากแต่มันถูกออกแบบมาเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานที่ว่า "การสื่อสารระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร เป็นสิ่งที่ฉาบฉวยไม่ลึกซึ้ง" และนั่นจึงเป็นที่มาของการประดิษฐ์แช็ตบอตตัวแรกนามว่า ELIZA (อีไลซา)
ELIZA ในฐานะของนักบำบัดทางจิต
โจเฟซ ไวเซนบอม (Joseph Weizenbaum) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมตซาชูเซตส์ (MIT) พัฒนา ELIZA ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1964-1966 โดยใช้สคริปต์ที่มีชื่อว่า DOCTOR (ด็อกเตอร์) ซึ่งเป็นสคริปต์รูปแบบพิเศษที่ถอดแบบจากหลักการการให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง (Non-directive counseling) ของนักจิตวิทยาชื่อดังคาร์ล โรเจอส์ (Carl Rogers)
การให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง คือ รูปแบบหนึ่งของการบำบัดทางจิต โดยมีความเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญที่สุดคือตัวของผู้ป่วยเอง ดังนั้น จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่ใช้การให้คำปรึกษารูปแบบนี้ จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สะท้อนความรู้สึกกลับไปยังผู้ป่วยให้ได้ฉุกคิด และมีสติที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง แทนที่จะคอยให้คำแนะนำหรือวิธีการแก้ปัญหา เพราะในบางครั้งวิธีการที่เสนอให้แก่ผู้ป่วยอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และอาจจะยิ่งส่งผลเสียแก่ผู้ป่วยได้
ด้วยการเลือกใช้สคริปต์ที่ออกมาแบบมาสำหรับการให้ "คำปรึกษา" ไวเซนบอมจึงสวมรอยให้ ELIZA เป็นแช็ตบอตนักบำบัดทางจิต เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้แช็ตบอตจะถูกสร้างขึ้นด้วยสคริปต์ง่าย ๆ และไม่ได้มีความเข้าใจใด ๆ เกี่ยวกับอารมณ์ของมนุษย์ แต่มันสามารถส่งผลต่อจิตใจของมนุษย์ได้ และทำให้มนุษย์ผู้นั้นเชื่อว่าเขาได้คุยกับคนที่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริง
ELIZA มีกลไกการทำงานอย่างไร
วิธีการทำงานของสคริปต์ DOCTOR ใน ELIZA นั้นง่ายมาก ๆ หลักการสำคัญของมัน คือ การให้น้ำหนักคำสำคัญในประโยค ซึ่งจะขอยกตัวอย่าง ดังนี้
สมมุติว่าคุณพิมพ์ประโยค ฉันต้องการหนีจากครอบครัวของฉัน (I want run away from my parents) สคริปต์จะเริ่มแบ่งวรรคตอนภายในประโยค และให้น้ำหนักกับคำสำคัญภายในประโยคเพื่อสร้างคำตอบที่เหมาะสม
ในกรณีนี้สคริปต์ DOCTOR จะให้น้ำหนักของคำว่า ฉัน (I) เป็น 1 คะแนน ตามด้วยน้ำหนักของคำว่า ต้องการ (want to) เป็น 2 คะแนน และน้ำหนักของวลี หนีออกจากครอบครัวของฉัน (run away from my parents) เป็น 3 คะแนน นั่นหมายความว่า วลี "หนีออกจากครอบครัวของฉัน" จะเป็นคำสำคัญของประโยคนี้ จากนั้น ELIZA จะสร้างคำตอบที่เหมาะสมออกมาให้
ซึ่งโดยส่วนมากการสร้างคำตอบจะอยู่ในรอบแบบของการปรับเปลี่ยนประโยค จากประโยคบอกเล่าของคุณให้กลายเป็นประโยคคำถาม โดยมีเป้าหมายเพื่อ "ถาม" คุณกลับ และให้คุณลองสร้างคำตอบของตนเองขึ้นภายในจาก
จากประโยคก่อนหน้านี้ที่ว่า "ฉันต้องการหนีจากครอบครัวของฉัน" เมื่อ ELIZA เลือกคำสำคัญแล้ว จะมีการสร้างประโยคคำถามขึ้นมาใหม่ อาจเป็นประโยคว่า "การหนีออกจากครอบครัวของคุณ มีความหมายต่อคุณอย่างไร" (What would getting to run away from your parents meant to you?) เห็นได้ว่า ELIZA เพียงแค่ปรับเปลี่ยนบางถ้อยคำในประโยคดั้งเดิมของคุณให้กลายเป็นคำถามสะท้อนกลับมา แต่มันก็ทำให้คุณรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างได้ และอาจฉุกคิดได้ถึงสิ่งที่ควรกระทำจริง ๆ
ผลตอบรับจากการทดลอง
หลังจากที่ไวเซนบอมอนุญาตให้ผู้ป่วยจิตเวชและอาสาสมัครทดลองใช้ ELIZA ผลปรากฏว่าผู้ป่วยและอาสาสมัครส่วนใหญ่รู้สึกได้ว่าอารมณ์ของพวกเขาและ ELIZA เชื่อมถึงกัน !! รวมถึงไวเซนบอมเองยอมรับว่าในบางครั้งเขาก็รู้สึกคล้อยตามคำตอบของ ELIZA แม้เขาจะทราบดีว่าแช็ตบอตนี้ให้คำตอบตามสคริปต์ที่ตั้งไว้ก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น เลขานุการของไวเซนบอมเคยเอ่ยปากขออนุญาตให้เขาออกไปจากห้องทำงานเสียก่อน เพื่อที่เธอจะสามารถพิมพ์ตอบโต้กับ ELIZA แต่เพียงลำพัง เพราะเธอรู้สึกว่าปัญหาในชีวิตต่าง ๆ ของเธออาจมีเพียง ELIZA เท่านั้นที่ช่วยคลี่คลายได้ สิ่งนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งแช็ตบอตที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างง่าย กลับส่งผลต่อสภาพจิตใจของมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์
ถึงตรงนี้ต้องชี้แจงผู้อ่านเบื้องต้นว่า ในยุคสมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ดังเช่น ELIZA ยังไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ แต่การตอบสนองที่เราได้รับจากสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ เกิดจากการคล้อยตามทางความรู้สึกนึกคิดของเราเพียงเท่านั้น ซึ่งไวเซนบอมเองต้องการพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าวด้วย จึงเป็นที่มาของการประดิษฐ์ ELIZA ขึ้นมาในที่สุด
ความแตกต่างของ ELIZA และนักจิตวิทยาที่ใช้วิธีการให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง คือ เทคนิคในการปรับรูปแบบคำให้เหมาะสม เนื่องจาก ELIZA ถูกเขียนขึ้นด้วยสคริปต์อย่างง่าย มันจึงถูกจำกัดรูปแบบของคำตอบเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณพิมพ์คำตอบกลับไปว่า "ใช่" (Yes) ซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง ELIZA จะให้คำตอบที่วนกันไปมา ในขณะที่หากเป็นมนุษย์จริง ๆ ตอบ ก็อาจจะเสนอให้ผู้ถามพูดประโยคอื่น ๆ ออกมาบ้าง
ทั้งนี้ ถึงแม้ ELIZA จะถูกสร้างขึ้นเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่าการสื่อสารของมนุษย์และเครื่องจักรนั้นไม่ลึกซึ้ง แต่จะเห็นได้ว่า ELIZA ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยจิตเวชบางรายรู้สึกคล้อยตามไปกับคำตอบที่ได้รับ และฉุกคิดได้ถึงสิ่งที่ตนเองควรทำเพื่อให้ชีวิตเดินหน้าต่อไป จริง ๆ แล้วนั้น ELIZA ควรได้รับการยกย่องในฐานะแช็ตบอตเพื่อการบำบัดด้วยหรือไม่?
และนี่คือเรื่องราวของแช็ตบอตตัวแรกของโลก แม้มันจะถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายแต่กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ยุคต่อ ๆ มา ต้องการสร้างแช็ตบอตที่มีความสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนถึงวันนี้คุณคงได้เห็นแล้วกับศักยภาพอันน่าเหลือเชื่อของ ChatGPT ที่ช่วยตอบคำถามหลายสิ่งอย่างที่คุณอยากรู้ได้
ส่วนใครที่สนใจทดลองใช้งาน ELIZA สามารถเข้าไปพูดคุยได้ใน ลิงก์นี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Ubisend, Nextpit, Nerd for Tech, Analytics India Magazine
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67