TNN บินไกลครึ่งโลกด้วยเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน จับตาแนวคิดใหม่จากอังกฤษ

TNN

Tech

บินไกลครึ่งโลกด้วยเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน จับตาแนวคิดใหม่จากอังกฤษ

บินไกลครึ่งโลกด้วยเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน จับตาแนวคิดใหม่จากอังกฤษ

สตาร์ตอัปด้านอากาศยานจากอังกฤษ เผยแนวคิดเครื่องบินโดยสาร 279 ที่นั่ง พลังงานไฮโดรเจน สามารถบินไกลครึ่งโลกได้โดยเติมเชื้อเพลิงครั้งเดียว

สถาบันเทคโนโลยีอากาศยาน (Aerospace Technology Institute: ATI) สตาร์ตอัปด้านอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ เปิดตัวฟลายซีโร่ (FlyZero) แนวคิดเครื่องบินโดยสารพลังงานไฮโดรเจนเหลวรองรับผู้โดยสาร 279 ที่นั่ง ที่สามารถทำเที่ยวบินไกล 11 ชั่วโมง ได้โดยการเติมเชื้อเพลิงเพียงครั้งเดียว พร้อมกับรูปทรงแปลกตา


ในแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า โดยหลักการแล้วเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนเหลว (Liquid Hydrogen Powered Airliner) ฟลายซีโร่ (FlyZero) จะสามารถบินจากกรุงลอนดอนไปยังนครซานฟรานซิสโกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีระยะทางประมาณ 4,650 ไมล์ทะเล หรือ 8,600 กิโลเมตร ได้โดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงเพิ่มเติม (น้อยกว่าระยะจากกรุงเทพมหานครไปยังนครมิวนิก ประเทศเยอรมนีที่มีระยะทางประมาณ 4,750 ไมล์ทะเล หรือ 8,800 กิโลเมตร) 


ในขณะที่เชื้อเพลิงแบบไฮโดรเจนเหลวที่ใช้บนฟลายซีโร่ (FlyZero) จะเก็บไว้ในถังเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ที่รักษาอุณหภูมิไว้ที่ -250 องศาเซลเซียส จำนวน 4 ถัง โดยเป็นบริเวณท้ายเครื่อง 2 ตัว และแก้ม หรือใต้ท้องส่วนหน้าของเครื่องบินอีก 2 ตัว เพื่อสมดุลของตัวเครื่อง


บินไกลครึ่งโลกด้วยเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน จับตาแนวคิดใหม่จากอังกฤษ ที่มารูปภาพ ATI

 

ส่วนตัวเครื่องยนต์ของฟลายซีโร่ (FlyZero) จะเป็นเทอร์โบแฟน (Turbofan) หรือเครื่องยนต์เจ็ทแบบใบพัดที่ติดอยู่ใต้ปีกความยาว 54 เมตร ในแต่ละข้าง 


ทางสถาบันเทคโนโลยีอากาศยาน (ATI) ของอังกฤษเชื่อว่าธุรกิจเครื่องบินโดยสารจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงกลางทศวรรษของปี 2030 ซึ่งทำให้บริษัทได้รับเงินทุนมาพัฒนาแล้วกว่า 1,950 ล้านปอนด์ หรือกว่า 79,000 ล้านบาท นับตั้งแต่การก่อตั้งสถาบันในปี 2013 โดยเงินทุนเหล่านี้จะนำมาสร้างเครื่องบินโดยสารพลังงานไฮโดรเจนที่มอบประสบการณ์การบินที่ไม่ต่างจากเครื่องบินโดยสารในปัจจุบัน


แนวคิดฟลายซีโร่ (FlyZero) เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2021 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาแนวคิดเครื่องยนต์และการปรับปรุงการออกแบบ หลังจากที่สามารถสรุปต้นแบบการออกแบบได้เมื่อช่วงเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา และยังมีการจัดเสวนาเพื่อการเผยแพร่แนวคิดเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ในขณะที่ข้ามฟากไปทางสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการทดสอบเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนไฮฟลายเออร์ ทู (HyFlyer II) ซึ่งถึงมีขนาดเล็กกว่าแต่ว่ามีความคืบหน้าที่ค่อนข้างชัดเจนในตอนนี้




ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, Aerospace Testing International

ที่มารูปภาพ ATI

ข่าวแนะนำ