TNN ยานสำรวจเพอร์เซอเวียแรนซ์เก็บตัวอย่างที่ 10 ของหินบนดาวอังคาร

TNN

Tech

ยานสำรวจเพอร์เซอเวียแรนซ์เก็บตัวอย่างที่ 10 ของหินบนดาวอังคาร

ยานสำรวจเพอร์เซอเวียแรนซ์เก็บตัวอย่างที่ 10 ของหินบนดาวอังคาร

ยานเพอร์เซอเวียแรนซ์ (Perseverance) ของนาซา (NASA) เก็บตัวอย่างครบ 10 จุด บนพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อรวมไว้ที่จุดทรี ฟอร์คส์ (Three Forks) สำหรับนำกลับมายังโลก

วันที่ 31 มกราคม 2023 นาซา (NASA) ได้เผยแพร่ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ NASA JPL (นาซา เจพีแอล) ว่ายานเพอร์เซอเวียแรนซ์ (Perseverance) ที่เป็นยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารได้เก็บตัวอย่างพื้นผิวดาวอังคารครบทั้ง 10 จุด แล้ว สำหรับรวมไว้ที่จุดทรี ฟอร์คส์ (Three Forks) เพื่อใช้เป็นตัวอย่างสำรองในการนำตัวอย่างพื้นผิวดาวอังคารกลับโลกภายใต้ภารกิจส่งคืนตัวอย่างดาวอังคาร (Mars sample-return mission)

ภารกิจส่งคืนตัวอย่างดาวอังคาร (Mars sample-return mission) 

โดยภารกิจส่งคืนตัวอย่างดาวอังคารเป็นความร่วมมือระหว่างนาซาและองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งมีเป้าหมายจะนำตัวอย่างพื้นผิวดาวอังคารที่เก็บได้โดยยานเพอร์เซอเวียแรนซ์กลับโลกภายในปี 2033 


สำหรับแผนการ นาซาจะส่งยานลงจอดไปยังดาวอังคารในปี 2028 โดยภายในยานลงจอดจะมีจรวดบรรจุอยู่ ซึ่งเมื่อยานลงจอดเดินทางถึงดาวอังคาร ยานเพอร์เซอเวียแรนซ์จะใช้แขนหุ่นยนต์นำหลอดเก็บตัวอย่างหินบนดาวอังคารที่เก็บเอาไว้มาบรรจุลงในจรวดของยานลงจอด หลังจากนั้นจรวดจะจุดเชื้อเพลิง เพื่อส่งตัวเองขึ้นสู่วงโคจรของดาวอังคาร


โดยองค์การอวกาศยุโรปจะส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดาวอังคารไว้ก่อนในปี 2027 แล้วใช้ยานลำนี้ในการรับชิ้นส่วนของจรวดที่บรรจุหลอดตัวอย่างพื้นผิวดาวอังคารเอาไว้และนำกลับโลก

ยานสำรวจเพอร์เซอเวียแรนซ์เก็บตัวอย่างที่ 10 ของหินบนดาวอังคาร

จุดทรี ฟอร์คส์ (Three Folks) คลังเก็บตัวอย่างพื้นผิวดาวอังคารสำรอง 

สำหรับจุดทรี ฟอร์คส์เป็นจุดเก็บหลอดตัวอย่างพื้นผิวดาวอังคาร ณ ปล่องภูเขาไฟเจซีโร (Jezero) ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ยานเพอร์เซอเวียแรนซ์ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถนำส่งหลอดตัวอย่างให้กับจรวดได้ โดยนาซาจะส่งเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ไปยังดาวอังคาร เพื่อให้มันบินลำเลียงหลอดตัวอย่างพื้นผิวดาวอังคารไปยังยานลงจอดขององค์การอวกาศยุโรป


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยานเพอร์เซอเวียแรนซ์ยังอยู่ในสภาพดีและสามารถทำตามแผนแรกของภารกิจส่งคืนตัวอย่างดาวอังคารได้ แต่ในอีก 5 - 6 ปี ข้างหน้า อาจเกิดเหตุที่ทำให้มันไม่สามารถทำตามแผนแรกได้ ดังนั้นจึงต้องมีจุดฟรี ฟอร์คส์ไว้เป็นแผนสำรอง

ข้อมูลจาก Space.com

ภาพจาก NASA JPL

ข่าวแนะนำ