นึกว่าคนเหล็ก ! หุ่นยนต์หลอมละลายตัวเองไหลออกจากคุก
ภาพหุ่นยนต์ที่หลอมละลายตัวเอง ข้ามสิ่งกีดขวาง ตอนนี้ไม่ได้อยู่แค่ในภาพยนตร์อีกต่อไป เมื่อมีคนพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยงานแพทย์ที่ละลายตัวเองหนีออกจากกรง แล้วกลับมาเป็นหุ่นยนต์ยืนได้อีกครั้ง
กลุ่มนักวิจัยจากฮ่องกงได้สร้างหุ่นยนต์จิ๋วตัวอ่อนนุ่มและสร้างกระแสไปทั่วโลก จากการสาธิตการทำงานโดยให้หุ่นยนต์จิ๋วที่ติดอยู่หลังห้องขัง หลอมละลายตัวเองและเคลื่อนตัวออกจากห้องขัง ไหลลงไปที่พื้นเพื่อให้หลุดจากกรง ก่อนขึ้นรูปกลับมาเป็นหุ่นยนต์ได้อีกครั้ง
หุ่นยนต์จิ๋วตัวอ่อนนุ่ม เป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์นิ่ม (Soft Robot) ที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ซึ่งทีมนักวิจัยได้สร้างตัวหุ่นยนต์ขึ้นมาจากสารประกอบที่มีชื่อว่า เอ็มพีทีเอ็ม (MPTM: Magnetoactive Solid-Liquid Phase Transitional Matter) สารประกอบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จากแร่แม่เหล็กหายาก นีโอไดเมียม (Neodymium) และแร่โลหะแกลเลียม (Gallium) เป็นองค์ประกอบหลัก
ความพิเศษของโลหะเนื้ออ่อนแกลเลียม (Gallium) คือ จุดหลอมเหลวต่ำและสามารถหลอมละลายในอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจึงได้ใช้การเหนี่ยวนำทางแม่เหล็กมาทำให้แกลเลียม (Gallium) มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เพื่อช่วยหลอมละลายตัวหุ่นยนต์ ตลอดจนช่วยควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ และใช้เป็นขั้นตอนการคืนรูปให้หุ่นยนต์กลับมารวมร่างกันเมื่อสารประกอบเอ็มพีทีเอ็ม (MPTM) เย็นตัวลงได้อีกด้วย
และอีกเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ทีมนักวิจัยเลือกใช้แกลเลียม (Gallium) นั้นเป็นเพราะว่า แกลเลียมเป็นโลหะที่ไม่เป็นพิษกับมนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาครั้งนี้ ที่ต้องการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น การช่วยขนส่งยาหรือการเก็บวัตถุแปลกปลอมออกจากกระเพาะมนุษย์ ที่สามารถควบคุมทิศทางและไม่รบกวนสภาพร่างกายภายใน ทำให้การขนส่งยานั้นง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการช่วยงานด้านวิศวกรรม เช่น การประกอบวัสดุชิ้นเล็ก ๆ และการสร้างวงจรไฟฟ้ารูปแบบพิเศษก็สามารถทำได้เช่นกัน
ทีมนักวิจัยเปิดเผยว่า แนวคิดของหุ่นยนต์ตัวนี้ มาจากปลิงทะเล ที่สามารถปรับความแข็งแรงเนื้อเยื้อเองได้ ทั้งอ่อนและแข็ง เพื่อเปลี่ยนรูปร่าง ดำรงชีพ หรือ อำพรางตัว และเน้นการใช้งานทางการแพทย์เป็นหลัก ดังนั้น ถึงแม้หุ่นยนต์ตัวนี้จะสาธิตความสามารถด้วยการหลบหนีออกจากห้องขัง แต่ก็เป็นเพียงการเล่นกับฉากในภาพยนตร์เรื่องคนเหล็กภาค 2 (Terminator 2: Judgment Day) ฉบับปี 1991 ที่ปรากฏหุ่นยนต์ ทีหนึ่งพัน (T-1000) ที่หลอมละลายตัวเองเพื่อแหกคุกเท่านั้น
งานวิจัยหุ่นยนต์ที่สร้างจากสารประกอบเอ็มพีทีเอ็ม (MPTM) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ แมทเทอร์ (Matter) เมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทีมวิจัยเชื่อมั่นว่าในอนาคต หุ่นยนต์หลอมละลายตัวเองได้จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์และช่วยการทำงานในหลากหลายด้านตามไปด้วย
ที่มาข้อมูล CNN, EurekAlert, Cosmos Magazine
ที่มารูปภาพ EurekAlert, Flashback FM
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67