จับเทรนด์เทคโลกจากวงใน MIT และ NASA จากงาน MIT Media Lab Southeast Asia Forum | TNN Tech Reports Weekly
MIT Media Lab Southeast Asia Forum คืองานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย งานเสวนานี้จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยที่จะได้รับฟังทิศทางทางด้านเทคโนโลยี จากวิทยากรในหลากหลายสาขาวิจัยของ MIT Media Lab
หนึ่งในต้นน้ำผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนา สมาร์ตโฟน, สมาร์ตวอตช์, แว่น VR เทคโนโลยีเหล่านี้ ล้วนมาจากสถาบันวิจัยอย่าง MIT Media Lab องค์กรด้านเทคโนโลยีที่สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมาแล้วมากมาย
MIT Media Lab คืออะไร ?
MIT Media Lab คือสถาบันวิจัยของ MIT หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1985 มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม การออกแบบและศิลปะ โดยหนึ่งในหมุดหมายของ MIT Media Lab คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ และแรงบันดาลใจทางเทคโนโลยีออกไปยังทั่วทุกมุมโลก
งานเสวนา MIT Media Lab Southeast Asia Forum
MIT Media Lab Southeast Asia Forum คืองานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยที่ได้รับฟังมุมมอง และทิศทางเทคโนโลยี จากวิทยากรในหลากหลายสาขาวิจัย ของหนึ่งในองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยีของโลกอย่างใกล้ชิด
งานเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Elephant in the Room" (ปัญหาใหญ่เท่าช้าง แต่คนในห้องกลับมองไม่เห็น) มีเป้าหมายเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาของมนุษยชาติที่ถูกมองข้ามไป โดยมีการพูดถึงการนำเทคโนโลยี AI, เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง Hybrid Realities, การเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี Augmented Creativity, และการแพทย์แห่งอนาคต Cyborg Health เข้ามาผนวกใช้ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ
"Elephants in the room help us think about humanity's greatest challenges, and how we think beyond them. to think about a very positive future for humanity, living in balance with nature." - "สำนวนนี้ช่วยให้เราคิดถึงความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ และการคิดว่าเราจะก้าวข้ามมันไปได้อย่างไร เพื่อคิดถึงอนาคตที่ดีสำหรับมนุษยชาติ โดยอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล"
ช้างในห้อง ?
ช้างในห้อง เป็นหัวข้อสำคัญที่ทั้ง พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอก ผู้ช่วยวิจัยใน MIT Media Lab และรองศาสตราจารย์ ดร.เดวา นิวแมน ผู้อำนวยการของ MIT Media Lab มองว่าเป็นกุญแจสู่การยกระดับมนุษย์และอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น
ดร.เดวา นิวแมน
ดร.เดวา นิวแมน นอกจากจะเป็นผู้กำกับทิศทางการวิจัยและบริหารงานให้กับ MIT Media Lab แล้ว ยังเป็นอดีตรองผู้บริหารองค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือ NASA อีกด้วย โดยในงานนี้ ดร.เดวา พูดถึงบทเรียนจากโควิด-19 ตลอด 2-3 ปี ที่ผ่านมา จนนำไปสู่การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านสาธารณสุขและการศึกษา ในปี 2023 นี้
"So 2023, I think is going to be a fantastic year, better than this past year, I hope. we will be coming out of the pandemic and I think maybe we'll learn the lessons about reflecting on access for healthcare, for education, for all because we need to raise up everyone." - "ในปี 2023 ฉันหวังว่าจะเป็นปีที่ยอดเยี่ยม ดีกว่าปีที่ผ่านมา เรากำลังออกจากช่วงเวลาของการระบาด และฉันคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ว่าเทคโนโลยีควรจะทำให้เราเข้าถึงสาธารณสุข เข้าถึงการศึกษา สำหรับทุก ๆ คน เพราะเราต้องทำให้ทุกคนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม"
การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา คือ หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ ดร.เดวา มองว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ สืบเนื่องมาจากปัญหาการขาดโอกาสและเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กหลายคนจากทั่วทุกมุมโลกในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมไปถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่เป็นหัวใจสำคัญซึ่งทำให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จำเป็นต้องนึกถึงความยั่งยืน ไม่ทำลายธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นอีกทิศทางในด้านเทคโนโลยีที่สำคัญแห่งอนาคต
โลกมีอายุกว่า 4,500 ล้านปี ?
ดร.เดวา เผยว่าโลกนั้นมีอายุมากว่า 4,500 ล้านปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนับไม่ถ้วน ต่างจากมนุษย์ที่ถ้าเทียบกับกับอายุขัยของโลกแล้วถือเป็นส่วนเล็ก ๆ มนุษย์จึงต้องสามารถดำรงชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ให้ได้ อย่างไรก็ดี การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้มีแต่เรื่องของโลกสีเขียวหรือพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของต้นทุน การใช้งานที่ง่าย และผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ
ดร.เดวา เชื่อว่าการพัฒนาพลังงานสะอาดที่สามารถเข้าถึงได้ จะเป็น “หัวใจ” ของการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต และจะช่วยทำให้พวกเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ดียิ่งกว่าเดิม ซึ่งความยั่งยืนยังรวมถึงอายุที่ยืนยาว ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี จึงเป็นอีกสิ่งที่ MIT Media Lab ให้ความสำคัญ
พัทน์ ภัทรนุธาพร
คุณ พัทน์ ภัทรนุธาพร คนไทยคนแรกที่ได้เข้าไปศึกษาในสาขา Flu-id Inter-faces การศึกษาและออกแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI รวมถึงการผสมผสานระหว่างชีววิทยาเเละดิจิทัลและการศึกษาเฉพาะบุคคลจาก MIT Media Lab ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Cyborg Health หรือการผสานเทคโนโลยีเข้ากับมนุษย์ เพื่อยกระดับการรักษาสุขภาพในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
"จะทำยังไง ถ้าจะเอาเทคโนโลยีพวกนี้มาทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น ผ่านการเป็นไซบอร์ก ผ่านการผสมมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยีแบบใหม่ ๆ เทคโนโลยีแค่ทำให้หมอทำงานได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าใจร่างกายของผู้ป่วยได้ดีมากขึ้น แล้วก็นำมาสู่ผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น"
คุณพัทน์ มองว่า Cyborg Health อาจจะอยู่ในลักษณะของอุปกรณ์ที่ผสานเข้ารวมจนเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จะช่วยรายงานผล วิเคราะห์ปัญหาสุขภาพและรักษามนุษย์ด้วยตัวของมันเองได้ พร้อมทั้งช่วยการทำงานของแพทย์ ด้วยการส่งต่อข้อมูลการรักษาจากแต่ละบุคคลเพื่อการวิจัยขั้นสูง โดยพัฒนาไปพร้อมกับการปกป้องข้อมูลส่วนตัว เช่น DNA หรือข้อมูลอัตลักษณ์
คำฝากทิ้งทายของทั้ง 2 คน
โดยนอกจากทั้ง 2 ท่าน จะให้มุมมองด้านเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น รวมถึงร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานและการเรียนภายใน MIT Media Lab สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังได้ฝากข้อคิดและแรงบันดาลใจ สำหรับคนที่สนใจศึกษาด้านเทคโนโลยีไว้อย่างน่าสนใจ
คุณ พัทน์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
"โอกาสของเด็ก ๆ หรือน้อง ๆ หลาย ๆ คน ตอนนี้มันเปิดกว้างมาก MIT มีคอร์สออนไลน์ ที่หลาย ๆ คนเข้าไปเรียนได้โดยที่ไม่ต้องเข้าเรียน MIT เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าเราสนใจแสวงหา มันมีช่องทางมากมายที่เปิดรอเราอยู่ ถ้าเราเจอในสิ่งที่เราชอบแล้วก็สนุก มันก็จะไปต่อเอง ไม่ต้องคิดอะไรมาก"
ดร.เดวา กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
"When I educated my entire faculty career to empower everyone. And guess what, 51% of the population is women so yeah I think women should be rocket scientists. And as long as people can see themselves and as long as our young people are empowered and told yes then I believe they can turn any of their dreams into reality." - "ตอนให้ความรู้ในอาชีพการงานในคณะทั้งหมดเพื่อผลักดันทุกคน แล้วเชื่อไหมคะ ว่า 51% ของชั้นเรียนเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้น ฉันจึงคิดว่า ผู้หญิงถึงควรเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดขนส่ง และ ตราบใดที่ผู้คนเห็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และตราบใดที่คนรุ่นใหม่ได้รับการผลักดัน และบอกว่าพวกเขาทำได้ ฉันก็เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริงได้เช่นกัน"
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67