TNN NASA ย่นเวลาเดินทางไปดาวอังคาร เตรียมพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานนิวเคลียร์

TNN

Tech

NASA ย่นเวลาเดินทางไปดาวอังคาร เตรียมพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานนิวเคลียร์

NASA ย่นเวลาเดินทางไปดาวอังคาร เตรียมพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานนิวเคลียร์

นาซา (NASA) ประกาศร่วมมือดาร์ปา (DARPA) เตรียมพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานนิวเคลียร์สำหรับยานอวกาศและจรวดที่จะใช้เดินทางไปดาวอังคาร

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา นาซา (NASA) ได้ประกาศถึงความร่วมมือกับดาร์ปา (DARPA) หรือสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาและเริ่มวิจัยเครื่องยนต์พลังงานนิวเคลียร์ เพื่อย่นระยะเวลาเดินทางจากโลกไปดาวอังคารที่มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร ให้เร็วขึ้น  ซึ่งเดิมทีนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาเดินทางไปถึงดาวอังคารประมาณ 7 เดือน 

NASA ย่นเวลาเดินทางไปดาวอังคาร เตรียมพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานนิวเคลียร์

โครงการดราโก (DRAGO) 

โดยข้อตกลงครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการดราโก (Draco) ซึ่งนาซาจะนำแนวคิดระบบขับเคลื่อนความร้อนนิวเคลียร์ (Nuclear Thermal Propulsion) ที่เคยเผยแพร่เมื่อปี 2017 มาปัดฝุ่นพัฒนาใหม่ เพื่อนำไปใช้กับจรวดและยานอวกาศที่จะทำหน้าที่นำนักบินอวกาศเดินทางไปลงจอดบนดาวอังคาร


ระบบขับเคลื่อนความร้อนนิวเคลียร์ (Nuclear Thermal Propulsion) 

สำหรับระบบขับเคลื่อนความร้อนนิวเคลียร์ให้พลังงานในการขับเคลื่อนมากกว่าเครื่องยนต์แบบเคมีที่ดีที่สุดในโลกตอนนี้ถึง 3 เท่า โดยการทำงานจะอาศัยพลังงานความร้อนจากเครื่องปฏิกรณ์ฟิชชันทำให้ไฮโดรเจนเหลวในถังเชื้อเพลิงมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 2,400 องศาเซลเซียส เพื่อให้ไฮโดรเจนเหลวขยายตัวและพ่นออกไปจากเครื่องด้วยความเร็วสูง ทำให้ยานอวกาศและจรวดพุ่งทะยานขึ้นไปข้างหน้า


นอกจากนี้ยังมีข้อดีอื่นๆ ก็คือ มันจะช่วยให้ยานอวกาศและจรวดสามารถบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และเสบียงที่จำเป็นได้มากขึ้น โดยการเดินทางในอวกาศที่เร็วขึ้นจะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของนักบินอวกาศ เนื่องจากการอยู่ในอวกาศนานเกินไป จะทำให้นักบินอวกาศมีหัวใจและกระดูกที่อ่อนแอลง รวมถึงสุขภาพจิตก็อาจจะแย่ลงด้วยเช่นกัน 


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นาซาพยายามทำการพัฒนาและทดสอบระบบเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ โดยย้อนกลับไปในปี 1960 นาซาเคยทำโครงการลักษณะนี้มาแล้วในชื่อโครงการเครื่องยนต์นิวเคลียร์สำหรับจรวดและรถแลนด์โรเวอร์ แต่นโยบายในตอนนั้นมุ่งไปที่การพัฒนากระสวยอวกาศมากกว่า จึงทำให้โครงการถูกปิดตัวลง

ข้อมูลและภาพจาก NASA

ข่าวแนะนำ