ยาน Dragon ของ SpaceX รับบทเป็นยานฉุกเฉินพานักบินอวกาศ NASA กลับบ้าน
ยานอวกาศครูว์ดรากอน เอนดิวแรนซ์ (Crew Dragon Endurance) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) รับบทเป็นยานฉุกเฉินของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในการพานักบินอวกาศของนาซา (NASA) กลับบ้าน
ยานอวกาศครูว์ดรากอน เอนดิวแรนซ์ (Crew Dragon Endurance) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้รับเลือกให้เป็นยานฉุกเฉินของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อเคลื่อนย้ายนักบินอวกาศในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยานอวกาศโซยุซ เอ็ม-22 (Soyuz M-22) ซึ่งมันอาจจะทำงานได้ไม่ปลอดภัย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยานอวกาศโซยุซ เอ็ม-22 (Soyuz M-22)
โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา มีการตรวจพบการรั่วไหลของสารหล่อเย็นบริเวณส่วนท้ายของยานอวกาศโซยุส เอ็ม-22 ซึ่งคาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการถูกอุกกาบาตขนาดเล็กพุ่งชนจนทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นมันจึงไม่เหมาะที่จะใช้นำนักบินอวกาศกลับโลก
รอสคอสมอส (ROSCOSMOS) หรือองค์การอวกาศรัสเซียจึงวางแผนที่จะส่งยานอวกาศโซยุซแบบไร้คนขับอีกลำขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023 ที่จะถึงนี้ เพื่อนำลูกเรือที่ถูกส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติโดยยานอวกาศโซยุซ เอ็ม-22 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2022 กลับสู่พื้นโลก ประกอบด้วยแฟรงก์ รูบิโอ (Frank Rubio), เซอร์เก โปรโคปิเยฟ (Sergei Prokopiev) และดมิทรี เปเตลิน (Dmitry Petelin)
หากเกิดเหตุฉุกเฉิน นักบินอวกาศของนาซา (NASA) จะไม่มียานกลับบ้าน !
อย่างไรก็ตาม ยานอวกาศโซยุซ เอ็ม-22 ยังสามารถใช้งานเป็นยานอวกาศฉุกเฉินได้อยู่ แต่จะสามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้เพียง 2 คน เท่านั้น โดยหากเกิดเหตุฉุกเฉินก่อนวันที่รอสคอสมอสจะส่งยานอวกาศโซยุซอีกลำไปเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023 นี้ นักบินอวกาศเซอร์เก โปรโคปิเยฟและดมิทรี เปเตลินจะได้รับเลือกให้ไปกับยานอวกาศโซยุซ เอ็ม-22 เนื่องจากทั้ง 2 เป็นนักบินอวกาศสัญชาติรัสเซียของรอสคอสมอส ซึ่งจะเหลือนักบินอวกาศแฟรงก์ รูบิโอที่ไม่มีที่นั่งกลับบ้าน
นาซา (NASA) จึงได้ให้มีการปรับแต่งเพิ่มที่นั่งของยานอวกาศครูว์ดรากอน เอนดิวแรนซ์จากเดิม 4 ที่นั่ง เป็น 5 ที่นั่ง เนื่องจากมันเป็นยานอวกาศที่เทียบท่าอยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติอยู่แล้ว เพื่อรองรับนักบินอวกาศแฟรงก์ รูบิโอในกรณีฉุกเฉิน โดยที่ยานอวกาศครูว์ดรากอน เอนดิวแรนซ์เป็นยานอวกาศที่ออกแบบมาให้สามารถปรับแต่งเพิ่มที่นั่งได้สูงสุดถึง 7 ที่นั่ง
ข้อมูลและภาพจาก NASA
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67