TNN แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย

TNN

Tech

แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย

แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย

"เราพบว่าการใส่เฝือกมันก็มีผลแทรกซ้อนบ้างซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีได้บ้าง แย่สุดเลยก็คือปลายนิ้วบวมเลือดมาเลี้ยงไม่ได้ หมอใส่แน่นไป แล้วจบลงด้วยการตัดขาก็มี"



ภาวะกระดูกต้นขาแตก หัก ร้าว กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น !!


สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในปี 2564 ภาวะกระดูกต้นขาแตก หัก ร้าว ถือเป็นภาวะที่มีผู้ป่วยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าว รวมไปจนถึงจากกรณีกระดูกแตกหักในส่วนแขนขาช่วงอื่น ๆ รวมกว่า 178,000 ราย 


ยิ่งไปกว่านั้น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ปี 2563 มีผู้ป่วยกระดูกและข้อ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 400 ล้านคนเป็น 570 ล้านคน ซึ่งโรคดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากผู้ป่วยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงเกิดภาวะทุพพลภาพได้อีกด้วย


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย


เราควรทำอย่างไร หากกระดูกของเราเกิดแตก หัก และร้าว ขึ้นมา ?


อย่างที่รู้กัน กระดูกเป็นโครงสร้างหลักของร่างกาย มันช่วยให้มนุษย์สามารถทรงตัว เคลื่อนไหว และใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อกระดูกแตก หัก ร้าว เราควรจะต้องทำอย่างไร ?


แน่นอนว่า ถ้าหักรุนแรง จะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาจากภายใน แต่ในกรณีที่หักไม่รุนแรง หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการรักษาการบาดเจ็บที่กระดูกจากภายนอก นั่นก็คือ เฝือก ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่มีความแข็ง คงรูปทรงได้ดี ทำให้ประคองกระดูกระหว่างการรักษาให้อยู่ในลักษณะปกติมากที่สุด และราคาถูก นอกจากนี้ยังมีราคาย่อมเยากว่าวิธีการรักษาอื่น ๆ 


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย


เฝือกนั้น "อันตราย" มากกว่าที่คิด


รศ.นพ.นิยม ละออปักษิณ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มศว. กล่าวว่า

"เราพบว่าการใส่เฝือกมันก็มีผลแทรกซ้อนบ้างซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีได้บ้าง แย่สุดเลยก็คือปลายนิ้วบวมเลือดมาเลี้ยงไม่ได้ หมอใส่แน่นไป แล้วจบลงด้วยการตัดขาก็มี"


เฝือกนั้นก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ที่ไล่ไปตั้งแต่มีน้ำหนักมาก ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเกิดการอับชื้นขึ้นได้ เพราะเฝือกค่อนข้างที่จะระบายอากาศได้ไม่ดี ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยเกิดอาการคัน บางรายถึงกับติดเชื้ออย่างรุนแรง การใส่เฝือกแบบปูนปาสเตอร์จึงจำต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านกระดูก และต้องมีความรู้ด้าน Orthopedic หรือด้านกระดูก ข้อ เอ็นและกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดบุคลากรทางการแพทย์ในด้านนี้เป็นจำนวนมาก


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย


จุดกำเนิดของ "เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย"


ด้วยปัญหาของเฝือกแบบปูนปาสเตอร์ ตามที่กล่าวมา ทำให้รองศาสตรจารย์นายแพทย์นิยม ละออปักษิณ อาจารย์จากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ทำการวิจัยเพื่อหาวัสดุที่ใช้ทำเฝือกที่มีน้ำหนักเบา คงรูปและถอดออกง่าย โดยพบว่าวัสดุที่ตอบโจทย์ดังกล่าวก็คือ "ยางพารา" หนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทยเรานี่เอง 


"จนอยู่มาช่วงหนึ่งที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องน้ำยางพาราราคาตก แล้วชาวสวนยางก็มีปัญหา อาจจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองด้วย ตอนนั้นผมก็รับนโยบายมาจากรัฐบาลว่าให้เอาน้ำยางพารามาเพิ่มมูลค่ามาทำเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ถ้าทำได้ ทั้งนี้ในการผลิตออกมา หรือในเรื่องของการวิจัย เราคิดว่าทำเป็นฝาที่ภาษาเราเรียกว่า Slap คือทำเป็นฝาแล้วก็สวมเข้าไป แล้วก็ทำเป็นไซต์ขึ้นมา คงจุ่มไม่ได้ ทำสำเร็จรูปมาดีกว่า"


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย


การพัฒนา "เฝือกยางพาราไทย"


"เฝือกยางพาราไทย" เริ่มดำเนินวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี 2561 โดยมันจะอยู่ในรูปแบบของ Slap หรือเฝือกครึ่งเดียว ที่จะใช้งานโดยสวมเข้าไปคล้ายกับการสวมรองเท้า  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเฝือกยางพารานี้ ยังต้องพบกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะการคิดค้นสูตรว่า จะทำอย่างไรให้เฝือกจากยางพาราที่มีความนิ่มนั้นแข็งตัวได้ เสมือนเป็นเฝือกที่ผลิตจากปูนปาสเตอร์ แต่ก็ไม่แข็งมากจนเพิ่มน้ำหนัก และเป็นภาระให้กับผู้ป่วย


"จะทำอย่างไรให้เฝือกจากยางพาราที่มีความนิ่มนั้นแข็งตัวได้ เสมือนเป็นเฝือกที่ผลิตจากปูนปาสเตอร์ แต่ก็ไม่แข็งมากจนเพิ่มน้ำหนัก และเป็นภาระให้กับผู้ป่วย ?"


ด้วยการตั้งคำถามดังกล่าว จึงได้มีการปรับสูตรโครงสร้างทางเคมีใหม่ จนทำให้ยางพารา แข็งตัวขึ้นรูปแบบเป็นเฝือกได้ ขณะเดียวกันก็ได้มีการแต่งแต้มสีสันให้สวยงามขึ้นอีกด้วย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากซูเปอร์ฮีโร่ชื่อดังอย่าง "Iron Man"  มีการเพิ่มทั้งแท่งแกนเสริมความแข็งแรงให้กับเฝือก เติมสายรัดเข้าไปด้านหน้า เสมือนว่าใส่หน้ากากให้กับเท้าอยู่อย่างไงอย่างงั้น


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย


จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของเฝือกจากยางพารา และทำให้มันเหนือกว่าเฝือกจากปูนปาสเตอร์ นั่นก็คือ ผู้ป่วยสามารถใส่และถอดออกได้ด้วยตัวเอง มีเข็มขัดรัดเพื่อปรับให้พอดีกับข้อเท้าและช่วงขา ทำให้ไม่รัดแน่นหรือไม่หลวมจนเกินไป แถมยังไม่ก่อให้เกิดกลิ่นอับชื้นด้วย โดยเมื่อถอดออกได้จึงสามารถที่จะเอาออกมาล้าง ทำความสะอาดได้ มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 3-5 ปี เหมือนกับเราซื้อรองเท้ามาใช้นั่นเอง 


ที่สำคัญหากรักษาอาการหายดีแล้ว สามารถนำมาบริจาคหรือส่งต่อให้ผู้ป่วยท่านอื่น ๆ ต่อได้อีกด้วย


ใช้เวลาถึง 3 ปีในการพัฒนา !?


เฝือกจากยางพารารุ่นล่าสุดที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยกว่าจะออกมามีหน้าตาและคุณสมบัติแบบนี้ ต้องใช้เวลาในการพัฒนามากถึง 3 ปีเลยทีเดียว  และถือว่าเป็นเฝือกที่ทำจากยางพาราแห่งแรกของโลกอีกด้วย เพราะในปัจจุบันมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สิ่งนี้ขึ้นมาได้ 


"เราทำหน้ากาก ใส่หน้ากากด้านขากับหลังเท้าขึ้นมาก็จนเสร็จแล้วก็ผ่านการทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการเพื่อขอใช้เป็นมาตรฐาน ทีนี้ในโลกเนี่ยไม่มีว่าต้องแข็งเท่าไหร่ แต่ถ้าเทียบกับปูนปาสเตอร์แล้วเนี่ยเราแข็งกว่าเยอะ เป็นเรื่องหนึ่งที่พูดได้ว่าอันนี้เป็นชิ้นเดียวในโลกเพราะฉะนั้นเราก็ทำตรงนี้เสร็จก็ไปขึ้นทะเบียน อย. ก็ผ่านแล้ว จดสิทธิบัตรก็เรียบร้อย ตอนนี้ก็เข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์"


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย


ก้าวต่อไปของ "เฝือกยางพาราไทย"


แม้ในปัจจุบันเฝือกจากยางพาราจะนำมาใช้จริงกับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ บ้างแล้ว แต่ถึงอย่างไร จะต้องมีการพัฒนาอีกหลายด้าน 

  • เรื่องแรกคือเรื่องของกลิ่น ซึ่งค่อนข้างมีกลิ่นของยางที่ค่อนข้างแรง หลายคนอาจจะไม่ชอบได้ ปัญหานี้ในปัจจุบัน ทางทีมงานได้มีการพูดคุยกับบริษัทผู้ผลิตเฝืองยางพาราแล้ว โดยจะทำการใส่กลิ่นหอม ๆ เข้าไปในเฝือกยางเพื่อลดกลิ่นของยางลง

  • เฝือกจากยางพาราเป็นเฝือกที่ผลิตออกมาแบบสำเร็จรูป ไม่เหมือนกับปูนปาสเตอร์ที่หล่อจากร่างกายส่วนที่บาดเจ็บของผู้ป่วย อาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่กระชับตามช่วงแขน ขา และข้อต่อต่าง ๆ ได้ โดย ณ ตอนนี้ตัวเฝือกถูกสร้างขึ้นให้มีขนาดที่หลากหลาย มีทั้งหมด 4 ขนาดด้วยกัน คือ S M L และ XL

  • อีกหนึ่งปัญหาคือเรื่องการแพ้ยาง โดนแล้วคัน ณ ตอนนี้ทางทีมงานก็ได้แก้ปัญหาด้วยการให้คนไข้ใส่ถุงเท้าแล้วถึงใส่เฝือกยางพารา


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย


ราคาเท่าไร ?


ราคาของเฝือกยางพาราไทยในตอนนี้ อยู่ระหว่างการประเมินจากกรมบัญชีกลางอยู่ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 2,000 บาท โดยในขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างหารือ ให้เฝือกยางพาราสามารถเบิกได้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท แน่นอนว่า ถ้าผ่านการพิจารณาให้สามารถเบิกได้ คนไทยก็จะมีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมนี้ได้ทุกคน 


เฝือกยางพาราไทย 1 ชิ้น จะใช้ต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ 1,000 กว่า ๆ โดยถ้าเทียบกับเฝือกแต่ละประเภท เฝือกปูนนะ จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 400 - 500 บาท แต่ข้อเสียของเฝือกปูนนะคือใส่หลายรอบไม่ได้ ทำให้ทุกครั้งที่จะใส่ จำเป็นต้องทำใหม่ตั้งแต่ต้น สำหรับราคาของเฝือกยางพาราไทย จะมีคู่แข่งคือเฝือกพลาสติกของอเมริกา ซึ่งจะมีราคาตกอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 6,000 บาทด้วยกัน


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย


ทั้งนี้ เฝือกจากยางพาราได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์การอาหารและยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีขายอย่างเป็นทางการ เพราะต้องรอขึ้นทะเบียนนวัตกรรมก่อน และเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็จะสามารถวางขายตามร้านขายยา หรือโรงพยาบาลทั่วไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองหรือใบสั่งจากแพทย์มายื่นเพื่อขอซื้อแต่อย่างใด 


ปัจจุบัน "เฝือกยางพาราไทย" มีใช้งานอยู่ที่ไหนบ้าง ?


ปัจจุบันเฝือกยางพาราไทยเริ่มมีให้บริการแล้ว ในโรงพยาบาลเครือข่าย เช่น ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, โรงพยาบาลนครนายก, และโรงพยาบาลองครักษ์   ซึ่งในอนาคต เฝือกยางพาราจะได้รับการพัฒนาที่ครอบคลุมความสะดวกสบายของผู้ป่วยมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ รวมถึงสั่งการผ่านแอปพลิเคชัน


แห่งแรกของโลก เฝือกการแพทย์จากยางพาราไทย



ข่าวแนะนำ