ยิ่งกว่านก ! P-Flap โดรนติดปีกพร้อมกรงเล็บใช้สำหรับยึดเกาะคล้ายนกไม่มีผิด
พาไปรู้จักกับ P-Flap โดรนติดปีกพร้อมกรงเล็บใช้สำหรับยึดเกาะ เลียนแบบลักษณะการยึดเกาะของนก
ในปัจจุบัน โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ล่าสุดนักวิจัยกำลังพัฒนาโดรนบินพีแฟล็ป (P-Flap) ที่มีลักษณะการขึ้นบินแบบกระพือปีกซึ่งคาดว่าจะสามารถบินได้คล่องตัวและประหยัดพลังงานมากกว่าลักษณะการบินของโดรนบินปกติทั่วไปที่ใช้ใบพัดแบบยึดติดกับลำตัวโดรน โดยโดรนบินแบบใหม่นี้ได้ติดตั้งกรงเล็บสำหรับใช้ยึดเกาะที่คล้ายกับนกอีกด้วย
ต้นแบบโดรนบิน พีแฟล็ป (P-Flap: Perching Flapping-Wing Robot) มีวงปีกของตัวโดรนกว้าง 1.5 เมตร และมีน้ำหนัก 700 กรัม ได้รับการออกแบบโดยราฟาเอล ซัฟเฟอรีย์ (Raphael Zufferey) นักวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral Appointment - นักวิจัยที่ต้องทำการวิจัยหลังจบปริญญาเอกเพื่อตำแหน่งทางวิชาการ) จากสถาบันวิจัย EPFL ของสวิตเซอร์แลนด์
ราฟาเอล ซัฟเฟอรีย์ (Raphael Zufferey) เริ่มการพัฒนาช่วงแรกด้วยการทดสอบต้นแบบโดรนบิน พีแฟล็ป (P-Flap) ร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเซวิญ่า (University of Seville) ในประเทศสเปน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำกับมาตรฐานทั่วไป สำหรับการจัดการหุ่นยนต์อากาศยานแบบฝังปีกตรึงและปีกกระพือเพื่อเพิ่มระยะและความปลอดภัย ของสหภาพยุโรป (EU Project - GRIFFIN)
ต้นแบบของโดรนพีแฟล็ป (P-Flap) ติดตั้งกรงเล็บสำหรับการทำงานโดยใช้สปริงอัดคาร์บอนไฟเบอร์ที่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ ปราศจากการใช้งานพลังงานในรูปแบบใด ๆ โดยกรงเล็บดังกล่าวจะติดตั้งที่บริเวณปลายขาล่างของตัวโดรน ใกล้เคียงกับลักษณะทางกายภาพของนกนั่นเอง
โดรนพีแฟล็ป (P-Flap) ได้รับการทดสอบเบื้องต้นภายในอาคารที่เป็นระบบปิด หรือระบบที่ควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อการทดสอบ โดรนพีแฟล็ป (P-Flap) ใช้การควบคุมแบบไร้สาย บินได้อย่างอิสระพร้อมตรวจจับวัตถุหรือราวจับที่อยู่ด้านหน้าเพื่อตรวจจับและกำหนดระยะทาง, ระดับความสูงและการกำหนดทิศทางพุ่งเข้าหาที่ยึดเกาะ โดยเมื่อตัวโดรนอยู่ในระยะ 1 เมตร ของที่ยึดเกาะ เซนเซอร์จะทำงานเพื่อระบุตำแหน่งก่อนที่โดรนพีแฟล็ป (P-Flap) จะใช้กรงเล็บระบบสปริงเข้ายึดเกาะอย่างแข็งแรง กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงด้วยเวลาเพียง 25 มิลลิวินาที เท่านั้น (มนุษย์กะพริบตา 1 ครั้ง ด้วยเวลา 100 - 400 มิลลิวินาที)
หากการวิจัยพัฒนาโดรนพีแฟล็ป (P-Flap) ได้รับการพัฒนาต่อยอดในอนาคต เราอาจได้เห็นโดรนที่มีลักษณะการบินคล้ายกับนกในธรรมชาติและสามารถยึดเกาะกับวัตถุหรือต้นไม้บนที่สูงได้ ซึ่งทำให้โดรนสามารถบินขึ้นและลงจอดได้ในทุกสภาพพื้นผิวแม้ว่าจะเป็นเพียงกิ่งไม้หรือท่อสายไฟเล็ก ๆ ก็ตาม
ที่มาของข้อมูล New Atlas
ที่มาของรูปภาพ Raphael Zufferey
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67