นักวิทยาศาสตร์ตัดต่อยีนแม่ไก่ให้ออกไข่ที่หยุดการพัฒนาตัวอ่อนเพศผู้
วิธีการใหม่ที่ช่วยลดการฆ่าลูกไก่เพศผู้โดยไม่จำเป็นและเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงไก่แบบเดิม
ในอนาคตวิธีการเลี้ยงไก่ในฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่อาจเปลี่ยนไป ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดย ยาเวล ซินนามอน (Yuval Cinnamon) จาก Volcani Institute ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยการเกษตรในอิสราเอล ประสบความสำเร็จในการตัดต่อยืนไก่เพศเมียให้ออกไข่ที่หยุดการพัฒนาตัวอ่อนเพศผู้ ซึ่งวิธีการใหม่นี้จะช่วยลดปริมาณการฆ่าลูกไก่เพศผู้ในฟาร์มลง
การเลี้ยงไก่ในฟาร์มขนาดใหญ่มักนิยมเลี้ยงไก่เพศเมียเนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทำให้ในแต่ละปีมีการฆ่าลูกไก่เพศผู้จำนวนหลายพันล้านตัวในแต่ละปี การลดจำนวนไข่ที่เจริญเติบโตเป็นลูกไก่เพศผู้จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญของนักวิทยาศาสตร์
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษากระบวนการตัดต่อพันธุกรรมไก่เพศเมียเพื่อต้องการให้ไข่เพศผู้หยุดการเจริญเติบโต โดยใช้กระบวนการดังนี้
1. โดยปกติแล้วไก่เพศเมียมีโครโมโซม (WZ) และไก่เพศผู้มีโครโมโซม (ZZ)
2. นักวิจัยได้ทำการตัดต่อยีนในโครโมโซม Z ของไก่เพศเมีย
3. ไก่เพศเมียที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมถูกนำไปผสมพันธุ์กับไก่เพศผู้
4. ไข่ที่ได้ออกมาจะถูกนำไปฉายแสงสีฟ้าเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง เมื่อไข่เพศผู้ที่มีโครโมโซม (ZZ) ได้รับแสงสีฟ้าจะหยุดการเจริญเติบโต ไข่เพศผู้จะไม่ถูกฟักออกมาและนำไปใช้ประโยชน์ด้าน ๆ แตกต่างจากวิธีเดิมที่ไข่ถูกฟักออกมาเป็นไก่เพศผู้แล้วโดนฆ่าทำลาย
5. ส่วนไข่เพศเมียที่มีโครโมโซม (WZ) จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากกระบวนการฉายแสงสีฟ้า
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยืนยันความปลอดภัยในกระบวนการดังกล่าวและยืนยันว่าเกษตรกรจะได้รับลูกไก่แบบเดิมกับที่พวกเขาเคยได้รับ รวมไปถึงผู้บริโภคที่ได้รับความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตจากไก่ที่ได้รับการตัดต่อยีนดังกล่าว
กระบวนการตัดต่อพันธุกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศอังกฤษ Compassion in World Farming หรือ CIWF ซึ่งปกติแล้วจะจริงจังกับการปกป้องสัตว์เลี้ยงในรูปแบบต่าง ๆ แต่ในกรณีของกระบวนการตัดต่อพันธุกรรมแม่ไก่เพื่อลดจำนวนการพัฒนาของตัวอ่อนเพศผู้เป็นกรณีพิเศษที่ช่วยลดการฆ่าลูกไก่เพศผู้ลงได้จำนวนมากทางกลุ่มจึงให้การสนับสนุน
ที่มาของข้อมูล Futurism
ที่มาของรูปภาพ Pixabay
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67