TNN MIT พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดบางเฉียบ แปะพื้นผิว สร้างแหล่งพลังงาน

TNN

Tech

MIT พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดบางเฉียบ แปะพื้นผิว สร้างแหล่งพลังงาน

MIT พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดบางเฉียบ แปะพื้นผิว สร้างแหล่งพลังงาน

พาไปดูแผงโซลาร์เซลล์แบบบางพิเศษ เหมือนกระดาษ ที่สามารถเอาไปแปะบนพื้นผิวใด ๆ ก็ได้ เพื่อสร้างพลังงาน ผลงานดี ๆ จาก MIT สถาบันด้านเทคชื่อดังจากอเมริกา

ทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT (Massachusetts Institute of Technology: MIT) เผยโฉมการพัฒนาโซลาร์เซลล์หรือเซลล์แสงอาทิตย์แบบบางพิเศษ ที่บางและเบาราวกับกระดาษ สามารถนำไปใช้แปะติดบนพื้นผิวใด ๆ เพื่อเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นแหล่งพลังงาน โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบในอนาคต


MIT พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดบางเฉียบ แปะพื้นผิว สร้างแหล่งพลังงาน ภาพจาก MIT

ทีมวิจัย ONE lab จาก MIT ได้ออกแบบเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลลาร์เซลล์ชนิดฟิล์ม ที่นอกจากจะบางเบาเป็นพิเศษ ยังมีความยืดหยุ่นสูง และสามารถพิมพ์ได้ โดยเคลมว่ามีน้ำหนักเบากว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปถึง 100 เท่า แต่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อกิโลกรัมได้มากกว่าถึง 18 เท่า โดยทีมวิจัยเลือกใช้วัสดุที่ใช้หมึกและเทคนิคการผลิตที่สามารถปรับขนาดได้ เพื่อให้ง่ายในการปรับใช้ต่อยอดที่สุด 


สำหรับกระบวนการสร้างโซลาร์เซลล์ที่บางเฉียบเริ่มต้นจากใช้การเคลือบวัสดุนาโน ที่อยู่ในรูปของหมึกอิเล็กทรอนิกส์ ลงบนแผ่นใสชนิดลอกออกได้ จากนั้นใช้เทคนิคการพิมพ์สกรีนแบบง่าย ๆ พิมพ์ตัวอิเล็กโทรด หรือตัวนำไฟฟ้า ไว้ด้านบนโซลาร์เซลล์อีกชั้น จากนั้น ก็ลอกแผ่นโซลาร์เซลล์ออก


MIT พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดบางเฉียบ แปะพื้นผิว สร้างแหล่งพลังงาน ภาพจาก MIT

เพียงเท่านี้เราก็สามารถนำแผ่นโซลาร์เซลล์ไปเคลือบ หรือปะติดบนวัสดุและพื้นผิวต่าง ๆ อย่างเช่น ผ้า หรือแปะบนเต็นท์ขณะตั้งแคมป์ หรือใช้ติดบนเรือใบ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักหรือสำรองได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งอะไรให้ยุ่งยาก 


ส่วนเรื่องของความแข็งแรง ทนทาน หลังทีมวิจัยได้ทดสอบด้วยการม้วนเข้าออกกว่า 500 ครั้ง พบว่ายังคงผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 90% ของความสามารถในการผลิตไฟฟ้าขั้นต้น โดยตัวต้นแบบในปัจจุบัน สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 370 วัตต์ต่อกิโลกรัม 


MIT พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดบางเฉียบ แปะพื้นผิว สร้างแหล่งพลังงาน ภาพจาก MIT

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทีมวิจัยต้องพัฒนาและแก้ปัญหาต่อไป ก็คือ การปกป้องหน้าของแผ่นโซลาร์เซลล์ ไม่ให้เกิดความเสียหายเมื่อสัมผัสกับอากาศ แต่ยังคงไว้ซึ่งความบางเบา  ซึ่งถ้าทีมวิจัยทำได้สำเร็จ ก็คงจะเป็นมิติใหม่ของโซลาร์เซลล์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น



ข้อมูลและภาพจาก news.mit.edu

ข่าวแนะนำ