TNN อนาคตโซลาร์เซลล์ในยุโรปเปลี่ยนไป หันมาใช้ฟิล์มบาง ๆ ทดแทน

TNN

Tech

อนาคตโซลาร์เซลล์ในยุโรปเปลี่ยนไป หันมาใช้ฟิล์มบาง ๆ ทดแทน

อนาคตโซลาร์เซลล์ในยุโรปเปลี่ยนไป หันมาใช้ฟิล์มบาง ๆ ทดแทน

พาส่องเทคโนโลยีเทรนด์ใหม่ของโซลาร์เซลล์ในทวีปยุโรป ที่มุ่งเน้นให้พับ ม้วน หรือบิดงอได้ เพื่อการติดตั้งที่ยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

โซลาร์เซลล์กลายเป็นหนึ่งในวิธีการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะติดตั้งตามบ้านเรือนได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างไฟฟ้าใช้งานได้จริง อย่างไรก็ตาม การติดตั้งโซลาร์เซลล์ยังมีข้อจำกัดทั้งในองศา, พื้นที่ และลักษณะการติดตั้ง ที่ต้องมีมุมที่เหมาะสม มีพื้นที่พอสมควร และไม่สามารถยืดหยุ่นกับพื้นที่พิเศษ เช่น ร่องหลังคา หรือกำแพงได้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแรงผลักดันให้หลายบริษัทในยุโรปพัฒนาโซลาร์เซลล์ที่ยืดหยุ่น พับงอ หรือแม้แต่ติดตั้งในแนวตั้งได้ 


บริษัทแรกที่จะพาไปสำรวจนั้นได้แก่ เฮลิอาเทค (Heliatek) ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 ที่ประเทศเยอรมนี พัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยสารชีวภาพ (Organic Photovoltaic: OPV) เพื่อให้ตัวแผงโซลาร์เซลล์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยในปี 2017 บริษัทได้เปิดตัวเฮลิอาโซล (HeliaSol) แผงโซลาร์เซลล์ที่มีความบางและยืดหยุ่นคล้ายแผ่นฟิล์มโดยมีความหนาเพียง 0.001 มิลลิเมตร ก่อนจะต่อยอดเป็นเฮลิอาฟิล์ม (HeliaFilm) ที่รองรับการติดตั้งได้ในหลากหลายสภาวะพื้นผิว เช่น คอนกรีต กระจก หรือแม้แต่โลหะ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 85 วัตต์ต่อตารางเมตร (Watt per square meter) 




โซลาร์โคล้ท (Solar Cloth) เป็นบริษัทโซลาร์เซลล์จากฝรั่งเศสที่มุ่งเน้นการทำแผ่นโซลาร์เซลล์ให้บางและพับหรือม้วนงอได้เช่นกัน โดยบริษัทได้เปิดตัว M170 โซลาร์เซลล์แบบม้วนงอได้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 150 วัตต์ต่อตารางเมตร (Watt per square meter) และหนา 0.5 มิลลิเมตร ซึ่งหนากว่าโซลาร์เซลล์ของเฮลิอาเทค (Heliatek) ในขณะเดียวกันโซลาร์โคล้ท (Solar Cloth) เองก็พัฒนาแผงผลิตไฟฟ้า (PV) ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการนำวัสดุรีไซเคิล ได้แก่ ทองแดง, อินเดียม, แกลเลียม และเซเลเนียม (Copper, Indium, Gallium, and Selenium: CIGS) มาใช้งาน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตตัวแผง และทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงไปอีก 17.2% เมื่อเทียบกับโซลาร์เซลล์ทั่ว ๆ ไป





การพัฒนาโซลาร์ฟิล์ม (Solar Film) นั้นมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้เข้าถึงหลังคาเรือนในยุโรปและทั่วโลกได้ง่ายมากขึ้น โดยเห็นได้ชัดจากวิสัยทัศน์ของบริษัท เฮลิอาเทค (Heliatek) ที่ระบุว่า “เกือบ 98% ของหลังคาทั่วโลกต่างถูกทิ้งโล่งเอาไว้โดยไม่มีแผงโซลาร์เซลล์บนนั้น นี่ถือเป็นศักยภาพที่โดนปิดกั้นเอาไว้ ซึ่งเราจะคลายล็อกนี้ด้วยแผงโซลาร์ฟิล์มของเรา”


ที่มาข้อมูล Designboom

ที่มารูปภาพ Solar Cloth


ข่าวแนะนำ