เกือบ 100 ปี ก็ไม่สาย ! สหรัฐฯ ทำให้นิวเคลียร์ฟิวชันคุ้มทุนได้แล้ว !
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เตรียมจัดแถลงความสำเร็จในการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบนิวเคลียรฟิวชันให้คุ้มทุนตอน 4 ทุ่ม วันอังคารนี้
นิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) ระบบการสร้างพลังงานที่เป็นฝันอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ เลียนแบบการสร้างพลังงานบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่ต้นทุนต่ำแต่ให้ประสิทธิภาพสูงในทางทฤษฎี แต่ความเป็นจริงนั้นยังห่างไกลอีกมาก แต่ห้องวิจัยแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (Lawrence Livermore National Laboratory) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ไปทั่วโลก ด้วยการประกาศว่าสามารถพัฒนาระบบนิวเคลียร์ฟิวชันให้ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้จริงแล้ว โดยจะแถลงรายละเอียดอย่างเป็นทางการในเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งตรงกันกับช่วงค่ำของประเทศไทย
นิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) มีกระบวนการเกิดที่ต่างจากระบบนิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) ที่เป็นกรรมวิธีหลักในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ในปัจจุบัน กล่าวคือ นิวเคลียร์ฟิวชันเป็นการทำให้อะตอมของธาตุ ซึ่งมักหมายถึงธาตุไฮโดรเจน 2 อะตอม มาหลอมรวมกันที่อุณหภูมิสูง การหลอมรวมกันนั้นจะทำให้เกิดธาตุใหม่ และปลดปล่อยพลังงานจากการสร้างธาตุใหม่ออกมาในจำนวนมหาศาล ต่างจากนิวเคลียร์ฟิชชันที่เป็นการแยกธาตุกัมมันตรังสีออกมา การแยกธาตุจะได้พลังงานเช่นกัน แต่ว่าจะได้ธาตุกัมมันตรังสีใหม่ที่ต้องจัดเก็บหรือที่รู้จักกันในรูปแบบของกากนิวเคลียร์ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหากจัดเก็บไม่ถูกวิธี รวมถึงยังสร้างภาระในการจัดเก็บทั้งต้นทุนและพื้นที่ใช้สอยอีกด้วย
ดังนั้น นิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) จึงเป็นดั่งอนาคตของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก เพราะปลอดภัยกว่า และหากทำได้สำเร็จก็จะมีต้นทุนต่อหน่วยการผลิตที่ต่ำมาก ปัญหาเดียวในขณะนี้คือยังไม่สามารถทำได้ มีเพียงพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่สามารถเกิดนิวเคลียร์ฟิวชันในเชิงปฏิบัติได้ แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) นั้นอ้างแหล่งข่าวในกระทรวงพลังงานที่ระบุว่าสหรัฐฯ สามารถทำนิวเคลียร์ฟิวชันในระดับที่คุ้มต้นทุนการผลิตออกมาได้แล้ว
สาเหตุที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากค่าพลังงานได้รับสุทธิ (Net Energy Gain: NEG) ของการผลิตไฟฟ้าด้วยนิวเคลียร์ฟิวชันมีค่าที่ต่ำมาก (ยิ่งมีค่ามากแปลว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูง) โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าระบบนิวเคลียร์ฟิวชันในปัจจุบันจะต้องใช้ไฟฟ้าเกือบ 100 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อให้ได้พลังงานเพียง 1 เมกะวัตต์ (MW) ออกมา ทำให้การพัฒนาตั้งแต่ช่วงปี 1930 จนถึงปัจจุบันนั้นมุ่งเป้ามาที่การลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชันได้จริง ด้วยเหตุนี้ ความสำเร็จภายใต้การดำเนินการของห้องวิจัยแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (Lawrence Livermore National Laboratory) จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ โดยทางห้องวิจัยจะจัดแถลงข่าวร่วมกับกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เพื่อแจ้งรายละเอียดการทำวิจัยในครั้งนี้ตอน 10.00 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับช่วงเวลา 22.00 นาฬิกา ของวันอังคารที่ 13 ธันวาคม ตามเวลาประเทศไทย
ที่มาข้อมูล Reuters
ที่มารูปภาพ Wikipedia
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67